ปชป.สับเละ ๔ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลล้มเหลว “ดิจิทัล วอลเล็ต” สะดุด แนะ เพื่อไทย รับผิด “อีซี่ อี-รีซีท-ลดภาษีอสังหาฯ-แลนด์บริดจ์” บ้อท่า ปลุกตื่นจากฝัน อย่าทำงานแบบ “ไบโพลาร์”เมื่อวันที่ ๒๑ ม.ค. ๒๕๖๗ นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีต สส.กทม. กล่าวถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญ ๔ โครงการของรัฐบาล ว่า ล่าสุดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ๑ หมื่นบาท ที่จะแจกให้กับประชาชน ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ๓ หน่วยงานหลัก คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รายงานตั้งแต่ต้นปี ๖๖ ก่อนเลือกตั้งว่า ไม่มีตัวชี้วัดบ่งบอกว่าประเทศจำเป็นต้องกระตุ้นแบบปูพรมแจกเงิน ซึ่งจะทำให้คนรวยที่ไม่เดือดร้อนได้รับประโยชน์ไปด้วย ซึ่งเข้าข่ายลักษณะโปรยทานให้กับเศรษฐี ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศมีปัญหาเฉพาะจุด โดยอยู่ที่ปากท้องของผู้มีรายได้น้อย ที่เดือดร้อนจริงรอใช้เงินอยู่ ฉะนั้นรัฐบาลสามารถเร่งแก้ไขได้โดยแจกเงิน ๑ หมื่นบาทให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยความยากจน หรือกลุ่มเปราะบาง ไม่เกิน ๒๐ ล้านคน โดยใช้งบประมาณไม่ถึง ๒ แสนล้านบาท นั่นหมายความว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกร่าง พระราชบัญญัติกู้เงิน ๕ แสนล้านบาท ไม่ผิดวินัยการคลัง สามารถใช้งบประจำ หรืองบเพิ่มเติมได้ แต่ควรปรับเงื่อนไขการให้เงินที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ใช้ของที่มีอยู่แล้ว เช่น แอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่สำคัญต้องพิจารณาเงื่อนไขการใช้เงินไม่ให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ และให้ไปถึงรากหญ้าอย่างแท้จริง“พรรคเพื่อไทย ตั้งใจหาเสียงแบบประชานิยมตั้งแต่แรก เพ้อฝันให้ประชาชนหลงเคลิ้ม ผมว่าทางที่ดีที่สุดเพื่อไทยต้องรับสารภาพผิดที่หาเสียงเพ้อเจ้อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และอย่าอ้างว่าต้นเหตุที่ทำไม่ได้มาจากกฎหมาย หรือมีคนคัดค้าน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการพูดไม่คิด คิดไม่รอบคอบ คิดใหญ่ทำเป็น เป็นวาทกรรมหลอกลวงของการเมืองที่ต้องการหาเสียงแบบเก่า ขอให้หยุดยื้อความสุขคนจน เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถือว่าจบแล้ว มีหลายด้านที่รออยู่ แม้รัฐบาลจะผลักดันให้ผ่านสภาฯได้ แต่สุดท้ายก็จะไปเจอกับด่านวุฒิสภา (สว.) รวมถึงยังจะโดนยื่นตีความทางกฎหมายอีกด้วย” นายชนินทร์ กล่าวนายชนินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการอีซี่ อี-รีซีท (Easy e-Receipt) ก็กระตุ้นไม่เข้าเป้า ผิดเป้าหมาย ทั้งกลุ่มคนที่รับประโยชน์ และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ล้วนเป็นคนที่มีฐานะ มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องมีกระบวนการผ่านบริษัท คนกลาง Service Provider ทำการรับรอง ซึ่งต้องเสียเงิน ทำให้คนเข้าร่วมโครงการลำบาก สรุปสุดท้ายโครงการนี้ คนที่ได้ประโยชน์ คือคนรวยและผู้ประกอบการร้านค้ารายใหญ่ แต่รัฐเสียรายได้จัดเก็บไปเกือบหมื่นล้านบาท โครงการนี้แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ควรคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้กระตุ้นจากข้างล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง เช่นเดียวกับโครงการลดภาษีให้อสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่สามารถช่วยคนระดับล่างให้มีที่อยู่อาศัยได้ และไม่สามารถกระตุ้นยอดการโอน หรือยอดขายคอนโดที่พักอาศัยราคาไม่เกิน ๓ ล้านบาทได้ เพราะผู้ซื้อไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรืออาจเข้าถึงแต่กลับถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ กู้ไม่ผ่าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งมาจากภาคธุรกิจอสังหาฯ ทราบดีว่าควรจะต้องแก้ไขอย่างไรรัฐบาลต้องกลับมาสู่โลกความเป็นจริง โครงการใหญ่ที่เป็นของตายจับต้องได้ และลงทุนแล้วคือโครงการเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไม่ควรทิ้ง ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ ที่นายกฯ เดินทางไปเกือบทั่วโลก ใช้งบประมาณไปหลายร้อยล้านบาท ถามว่ามีประเทศใดบ้างรับคำเป็นเรื่องเป็นราว การเป็นเซลส์แมนต่างประเทศต้องปรับจูนการสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ใช่พูดเหมือนเป็นไบโพลาร์ ไปต่างประเทศพูดอย่าง บอกว่าประเทศพร้อมเศรษฐกิจน่าลงทุน แต่อยู่ไทยกลับบอกว่าประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ที่สำคัญสมัยที่ตนเป็นประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ เคยศึกษาแล้วพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อขนถ่ายสินค้าข้ามฝั่งเกิดขึ้นยาก“อีก ๖ เดือน ถึง ๑ ปี ถ้ารัฐบาลไม่ปรับรื้อนโยบายเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจประเทศดำดิ่งโงหัวไม่ขึ้นจริง และรัฐบาลชุดนี้จะต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต้องมีชุดนโยบายที่จับต้องได้ และถูกจุด ทั้งการเงินและการคลังต้องเดินไปด้วยกัน ดอกเบี้ยจะไปอย่างไร การใช้เครื่องมือภาษีที่มีอยู่ จะลด จะเพิ่ม ต้องใช้ให้ถูกจุด ถูกกลุ่ม นอกจากนี้ต้องเร่งรัดการใช้งบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนของงบฯ ปี ๖๗ ส่วนการจัดทำงบประมาณปี ๖๘ ต้องถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกเรื่องที่สำคัญต้องทำโดยเร่งด่วน คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่จะทำให้ลดการเหลื่อมล้ำทางรายได้ และโอกาสการทำงานของประชาชนในประเทศ” นายชนินทร์ กล่าว.
ปชป.สับเละ ๔ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐเหลว ปลุกตื่นจากฝัน-เพื่อไทย รับผิด
Related posts