Thursday, 19 December 2024

ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ๕๘ วัน หนี้ ๙,๑๖๓ ล้าน ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๘,๖๗๒ ราย

ปลัด มท. ลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ ๕๘ วัน มูลหนี้ ๙,๑๖๓ ล้าน ลงทะเบียนแล้วกว่า ๑.๓๕ แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๘,๖๗๒ ราย มูลหนี้ลดกว่า ๖๓๖ ล้าน เน้นย้ำ ทุกจังหวัดเร่งบูรณาการร่วมแก้ปัญหา ส่งเสริมวินัยการออม พัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนวันที่ ๒๗ ม.ค. ๒๕๖๗ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ ๕๘ นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. มีมูลหนี้รวม ๙,๑๖๓.๗๕๙ ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว ๑๓๕,๓๕๖ ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ๑๑๔,๗๕๘ ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ๒๐,๕๙๘ ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ ๑๐๒,๔๔๖ ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ๕ ลำดับแรก ๑. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน ๑๑,๐๗๑ ราย เจ้าหนี้ ๗,๔๑๔ ราย มูลหนี้ ๘๑๓.๖๕๙ ล้านบาท ๒. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน ๕,๕๑๗ ราย เจ้าหนี้ ๔,๙๘๙ ราย มูลหนี้ ๓๗๒.๑๗๖ ล้านบาท ๓. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน ๕,๐๒๔ ราย เจ้าหนี้ ๓,๘๙๕ ราย มูลหนี้ ๓๒๘.๖๘๙ ล้านบาท ๔. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน ๔,๗๙๐ ราย เจ้าหนี้ ๓,๔๕๓ ราย มูลหนี้ ๓๘๒.๙๘๖ ล้านบาท ๕. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน ๓,๕๖๖ ราย เจ้าหนี้ ๒,๔๐๐ ราย มูลหนี้ ๒๙๕.๙๓๗ ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด ๕ ลำดับแรก ได้แก่ ๑. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน ๒๑๘ ราย เจ้าหนี้ ๒๒๙ ราย มูลหนี้ ๑๒.๗๑๒ ล้านบาท ๒. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน ๓๐๓ ราย เจ้าหนี้ ๒๑๘ ราย มูลหนี้ ๒๐.๗๘๕ ล้านบาท ๓. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน ๓๕๓ ราย เจ้าหนี้ ๒๗๖ ราย มูลหนี้ ๑๓.๐๑๖ ล้านบาท ๔. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน ๔๓๐ ราย เจ้าหนี้ ๓๒๔ ราย มูลหนี้ ๑๗.๘๔๔ ล้านบาท และ ๕. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน ๔๖๕ ราย เจ้าหนี้ ๓๓๗ ราย มูลหนี้ ๒๓.๓๒๕ ล้านบาท“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ๑๕,๒๖๗ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๘,๖๗๒ ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย ๑,๕๕๓.๗๔๓ ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย ๙๑๗.๔๙๓ ล้านบาท มูลหนี้ลดลง ๖๓๖.๒๕๐ ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ๓,๐๔๑ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๑๘๗ ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย ๒๓๖.๓๔๒ ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย ๑๓.๙๒๒ ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง ๒๒๒.๔๒๐ ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว ๑๖๕ คดี ใน ๓๑ จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ กล่าวนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ใช้กลไกระดับพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้เข้ามาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ ๔ ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ ๑ ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง ๗ ภาคีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้คำปรึกษาพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง และเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเป็นตัวกลางในการประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ควบคู่กับการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้อยู่อย่าง “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัวในครัวเรือน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบไว้รับประทานไข่และเนื้อ การบริหารจัดการขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่า รวมถึงการสร้างแนวทางให้ลูกหนี้ทุกคนได้รู้จักประหยัดอดออม วางแผนทางการเงิน จัดทำรายรับรายจ่าย มีวินัยในการออมเงิน เพื่อไว้ใช้ในคราวจำเป็น เพิ่มพูนฝึกฝนทักษะการประกอบอาชีพและทักษะอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมนายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. ๑๕๖๗ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง