Thursday, 19 December 2024

พระวิษณุ “ทรงครุฑ” “อลังการ” อินโดนีเซีย

28 Jan 2024
126

แม้ “มินิซีรีส์” ชุดเยือนอินโดนีเซีย ๒๐๒๔ ของหัวหน้าทีมซอกแซกจะลาโรงไปแล้วจากคอลัมน์ปกติประจำวัน ตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่สำหรับใน “คอลัมน์ซอกแซก” ซึ่งเน้นทางด้านท่องเที่ยวและบันเทิงเริงรมย์ยังเหลืออีก ๑ เรื่องครับเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แต่ก็ใช้เป็นสถานที่สำหรับนำเสนอกิจกรรมด้านวัฒนธรรมของอินโดนีเซียควบคู่ไปด้วย…ผ่านรูปปั้นขนาดยักษ์ “พระวิษณุทรงครุฑ” สูงถึง ๑๒๒ เมตร กลางภูเขาหิน อลังการงานสร้างอย่าบอกใครเชียวนั่นก็คือ “ประติมากรรม” มหึมาที่มีชื่อรวมๆ ว่า “อุทยานวัฒนธรรม Garuda Wisnu Ken cana” ณ บริเวณที่เรียกว่าจิมบารัน ซึ่งอยู่ตอนใต้สุดของเกาะบาหลี หากใครพักอยู่ใน เด็นปาซาร์ เมืองหลักของบาหลีอาจต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ  ๑ ชั่วโมง เพราะฝ่าการจราจรอันหนักหนาสาหัสเกือบตลอดทั้งวันของเมืองนี้แต่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วจะรู้สึกเหมือนได้ไปอยู่อีกโลกหนึ่ง…โลกที่เต็มไปด้วยภูเขาหินที่มีแมกไม้ขึ้นอยู่โดยรอบ และข้างๆภูเขาหินนั้นเองได้มีการแกะสลักตกแต่งเป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง สำหรับให้เดินพักผ่อนชมโน่นชมนี่บนทางผ่าน ก่อนจะไปถึงสิ่งปลูกสร้างสูงสุดของอินโด นีเซีย อันได้แก่ “พระวิษณุทรงครุฑ” ในรูปภาพที่หัวหน้าทีมซอกแซกนำมาฝากท่านผู้อ่านวันนี้คำว่า “Garuda Wisnu Kencana” ถ้าจะถอดความเป็นคำไทยๆก็คือ “ครุฑ–พระวิษณุ–และกาญจนา” นั่นเองในเอกสารที่อ่านเจอบอกว่า Kencana ในภาษาอินโดนีเซียก็คือ “กาญจนา” หรือทองคำนี่แหละครับ แต่ก็ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมถึงใช้คำว่า “กาญจนา” เพราะทั้งตัวครุฑและองค์พระศิวะน่าจะเป็น “เหล็ก” +ทองเหลือง+สเตนเลส ที่แข็งแกร่งมาก สามารถทนฟ้าทนฝนทนพายุได้กว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปดังที่เราทราบแล้วว่า แม้ชาวอินโดนีเซียในปัจจุบันจะนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยความหลังในประวัติศาสตร์ที่เคยได้รับวัฒนธรรมฮินดูและพุทธจนมีการก่อสร้าง บุโรพุทโธ อันยิ่งใหญ่ ที่หัวหน้าทีมเขียนถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทางการอินโดนีเซียก็ยังถือว่าความยิ่งใหญ่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอินโดนีเซียจึงยังคงทุกสิ่งทุกอย่างจนถึงปัจจุบัน และเรื่องราวอันเป็นตำนานโบราณทั้งหลาย ไม่ว่าเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องความเชื่อของชาวฮินดูก็ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันเช่นกันโดยเฉพาะที่เกาะบาหลี ซึ่งยังมีคนนับถือศาสนาฮินดูถึง ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ความเชื่อในเรื่อง พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ ในทัศนะของคนไทย ตลอดจนเรื่องราวในรามเกียรติ์จึงยังคงอยู่ และยังมีการแสดงโขนกลางแจ้งตามหมู่บ้านต่างๆจนถึงทุกวันนี้แนวความคิดที่จะสร้างพระวิษณุองค์ใหญ่ทรงครุฑขึ้นในบริเวณนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นๆของ ค.ศ.๑๙๙๐ หรือ พ.ศ.๒๕๓๓ โดยสถาปนิกที่ชื่อว่า ไนโอมัน  นูอาร์ตา  และได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซียอย่างแข็งขันจึงได้มีการลงมือสำรวจและก่อสร้างในเบื้องต้นไป ส่วนหนึ่ง แต่พอจะลงมือจริงๆในปี ๑๙๙๗ หรือ ๒๕๔๐ ก็เกิดภาวะ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นในเอเชีย รวมถึงอินโดนีเซียก็เจอเข้าด้วย จึงต้องยุติการก่อสร้างไปก่อนจนกระทั่ง ค.ศ.๒๐๑๓ หรือ พ.ศ.๒๕๕๖ นี่เองจึงได้รื้อฟื้นมาใหม่โดยการเสนอตัวเข้ามาก่อสร้างและลงทุนของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่แห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย เริ่มมีการเจาะภูเขาบางส่วนและลงมือสร้างองค์พระวิษณุและพญาครุฑยักษ์จนแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.๒๐๑๘ หรือ พ.ศ.๒๕๖๑ โดยท่านประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ไปเป็นประธานด้วยตนเองแต่เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่การริเริ่มของรัฐบาลในอดีตด้วย จึงได้มีการเชิญประธานาธิบดีเก่าอีก ๒ ท่าน ได้แก่ นาง เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี ซึ่งมีส่วนในการริเริ่มในฐานะเป็นรองประธานาธิบดีในยุคเริ่มต้นก่อสร้าง…และนาย ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีในยุครื้อฟื้นให้มีการก่อสร้างต่อจนมาแล้วเสร็จในยุคของท่าน โจโกวี ดังกล่าวในตัวตึกที่ใช้เป็นฐานสำหรับองค์พระวิษณุและพญาครุฑ ซึ่งมีความสูง ๑๒๒ เมตร จะมีลิฟต์นำนักท่องเที่ยวขึ้นไปสู่ชั้นบน และชมพิพิธภัณฑ์ทันสมัยว่าด้วยเรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับครุฑของชาวอินโดนีเซีย จนถึงประวัติการก่อสร้างโดยละเอียดของโครงการนี้จำได้ว่าในส่วนที่อธิบายว่าชาติไหนใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์บ้าง เขายังเอ่ยถึงประเทศไทยของเราที่ใช้ “ครุฑ” เป็นเครื่องหมายของทางราชการไว้ด้วยรวมทั้งมีจุดชมวิวให้มองลอดช่องหน้าต่างออกไป จะเห็นบริเวณเกาะบาหลีโดยรอบสวยงามมากสวนสาธารณะ GWK (เรียกย่อๆ) แห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นสัญลักษณ์หรือ ICON ของบาหลีเท่านั้น รัฐบาลอินโดนีเซียยังถือเป็น ๑ ใน ICON ระดับชาติด้วย และเมื่อได้มีการประชุมสำคัญระดับโลกที่บาหลีก็จะมีการจัดงานเลี้ยงในบริเวณนี้ ดังเช่น การประชุมกลุ่มประเทศ G-๒๐ เมื่อ ๒ ปีที่แล้วลงจากตึกใหญ่มาก็จะเป็นลานกว้างเป็นทางเดินไปสู่ช่องเขา ซึ่งเป็นที่ว่างๆ และใช้จัดเป็นที่แสดงศิลปวัฒนธรรมกลางแจ้ง โดยมีการแสดงโขนอินโดนีเซียกลางแปลงอยู่คณะหนึ่ง มีผู้คนทั้งอินโดนีเซียและนักท่องเที่ยวนั่งดูอยู่หลายร้อยคนบรรยากาศทั่วๆไปร่มรื่นเพราะมีลมทะเลโกรกตลอดเวลา และในตอนค่ำคืน ช่วงเทศกาลจะมีการแสดงแสงสีเสียงด้วยในบริเวณดังกล่าวความยิ่งใหญ่ของสวนสาธารณะ GWK ความจริงก็เห็นได้จาก “เครื่องบิน” ขณะจะลงสู่สนามบินบาหลีแล้วล่ะครับเผอิญสายการบินที่คณะของเราใช้ก็คือสาย Garuda ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของ อินโดนีเซียที่เรารู้จักอย่างดียิ่ง และใช้ชื่อเดียวกันที่แปลว่าพญาครุฑทั้งบินในต่างประเทศและภายในประเทศตนเองจากหน้าต่างของพญาครุฑ (เครื่องบิน) มองลงไปยังเกาะบาหลีจะเห็นองค์พระวิษณุทรงครุฑตระหง่านขึ้นมาเหนือเกาะแสดงว่าใหญ่มากจริงๆขอแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่มีความตั้งใจจริงที่จะสร้างไอคอนของประเทศชิ้นนี้ ฝ่าฟันอุปสรรค “ต้มยำกุ้ง” มาถึง ๓ ประธานาธิบดีจนสร้างได้สำเร็จในที่สุด.“ซูม”คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม