Tuesday, 24 September 2024

ฉบับเต็ม ศาล รธน.วินิจฉัย "ก้าวไกล-พิธา" ล้มล้างปกครอง เจตนาแยกสถาบันกับชาติ

ศาล รธน.ชี้ พรรคก้าวไกล เจตนาแยกสถาบันฯ กับความเป็นชาติ เซาะกร่อนบ่อนทำลาย หวังคะแนนเสียง “พิธา” เคย หย่อนสติกเกอร์ หนุนเลิก ๑๑๒ หากปล่อยให้ทำต่อ คงไม่ไกลการล้มล้างฯ สั่งเลิกการกระทำ วันที่ ๓๑ ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อเวลา ๐๙.๓๐ น. ที่อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อาคารองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้วินิจฉัยการกระทำ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.ขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ ๑ และ พรรคก.ก. ในฐานะผู้ถูกร้องที่ ๒ เสนอร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง หรือไม่ บรรยากาศรอบ อาคาร A ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจาก นายพิธา ไม่ได้เดินทางมาฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเองเหมือน ครั้งการพิจารณา คดีหุ้นไอทีวีเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนทางด้าน นายธีรยุทธ ผู้ร้อง เดินทางมาฟังคำวินิจฉัย ที่ศาลรัฐธรรมนูญต่อมาเวลา ๑๔.๑๔ น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ มีความมุ่งหมายคุ้มครองมิให้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ส่งผลบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ สั่นคลอน คติ รากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของไทย ที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมทราม หรือต้องสิ้นสลายไป จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้อง จากการถูกบั่นทอนบ่อนทำลาย โดยการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ที่เกินขอบเขตของบุคคล หรือพรรคการเมืองไว้ การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ และ สส.พรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ รวม ๔๔ คน เสนอร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นประธานสภาฯ เมื่อ ๒๕ มี.ค. ๒๕๖๔ มีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๑๒ จากเดิม เป็นหมวด ๑ ลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้เป็น ๑/๒ เป็นหมวดความผิด พระเกียรติพระมหากษัตริย์ ที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ เสนอให้ มาตรา ๑๑๒ ออกจากลักษณะที่ ๑ กระทำมุ่งหวังให้ความผิด มาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญไม่ให้ถือว่ากระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป เจตนามุ่งหมายแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทย ออกจากกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ อย่างมีนัยสำคัญtt ttศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยต่อ ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ กับพวก เสนอเพิ่มบทบัญญัติ ผู้กระทำผิดพิสูจน์เหตุยกเว้นผิด ยกเว้นโทษ ตามร่างกฎหมายดังกล่าว มาตรา ๖ ให้เพิ่มมาตรา ๑๓๕/๗ ว่า ผู้ใดติชม แสดงความเห็น แสดงข้อความโดยสุจริต รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด เพิ่มความ มาตรา ๑๓๕/๙ วรรคหนึ่ง ว่า เป็นความผิดยอมความได้ และวรรคสอง ให้สำนักพระราชวังร้องทุกข์ และถือว่าเป็นผู้เสียหาย ในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้น และให้สำนักพระราชวัง ในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์ มุ่งหมาย ให้การกระทำผิด ตามมาตรา ๑๑๒ กลายเป็นความผิด ในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันฯ เป็นการลดสถานะความคุ้มครองของสถาบันฯ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในเรื่องดังกล่าวโดยตรง และให้สถาบันฯ เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ส่งผลให้การกระทำผิด มาตรา ๑๑๒ ไม่ใช่การกระทำผิดที่กระทบต่อชาติ และประชาชนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก ว่า ผู้ถูกร้องทั้ง ๒ อาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ อาศัยความชอบธรรมซ่อนเร้นผ่านสภาฯ เป็นการใช้นโยบายพรรค โดยนำสถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน การที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ เสนอแก้ไข มาตรา ๑๑๒ และใช้เป็นนโยบายพรรคหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯ ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้ง ๒ ฟังไม่ขึ้นส่วนข้อโต้แย้งผู้ ถูกร้องที่ ๒ ที่อ้างหลักการเสรีประชาธิปไตย โดย สส.เป็นผู้แทนประชาชนขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงไว้ และการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของ สส. เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนฯ ซึ่งเป็นเอกสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓๓ วรรคหนึ่ง (๒) ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเสนอร่างแก้ไขฯ เมื่อ ๒๔ มี.ค. ๒๕๖๔ กลับดำเนินการโดย สส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ทั้งสิ้น ทั้งผู้ถูกร้องทั้ง ๒ เบิกความต่อศาล ยอมรับว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ นำเสนอนโยบายแก้ไข มาตรา ๑๑๒ ให้แก่ กกต. เพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สส. ๒๕๖๖ และปัจจุบันยังคงปรากฏนโยบายบนเว็บไซต์พรรคก้าวไกลศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อีก ว่าปรากฏพฤติการณ์ของพรรคผู้ถูกร้องทั้ง ๒ พบว่า มีกลุ่มบุคคลมีชื่อทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง มีข้อเรียกร้องให้ทุกพรรคเสนอนโยบายยกเลิก มาตรา ๑๑๒ มีกลุ่มบุคคล ปัจจุบันเป็น สส. สังกัดพรรค ก.ก. จัดชุมนุมโดยแนวร่วมคณะราษฎร ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ มีการรณรงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไข มาตรา ๑๑๒ มีพฤติการณ์สนับสนุนเรียกร้องยกเลิกมาตรา ๑๑๒ โดยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวนอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมนายประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามข้อหา ๑๑๒ ได้แก่ ผู้ถูกร้องที่ ๑ และนายชัยธวัช ตุลาธน นายรังสิมันต์ โรม น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบ็ญจะปัก น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ในขณะที่เป็น หรือเป็นอดีต สส.พรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ กก.บห. สส.ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรค ก.ก. มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ หลายราย”โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๒๔ มี.ค. ๒๖๖๖ พรรค ก.ก. จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะ เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ขึ้นเวทีปราศรัย เชิญชวนผู้ถูกร้องที่ ๑ และว่าที่ผู้สมัคร สส.พรรค ก.ก. ร่วมกิจกรรมคุณคิดว่า มาตรา ๑๑๒ ควรยกเลิกหรือแก้ไข โดยผู้ถูกร้องที่ ๑ นำสติกเกอร์สีแดงปิดลงในช่องยกเลิกมาตรา ๑๑๒ แม้ผู้ถูกร้องที่ ๑ โต้แย้ง เบิกความว่า เป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ และผู้ฟังปราศรัยทั่วไป สงบสติอารมณ์ก่อนปราศรัยเหตุผลสมควรแก้ไขมาตรา ๑๑๒ หรือไม่ และเป็นการบริหารสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ ปราศรัยความตอนหนึ่งว่า พี่น้องประชาชน เสนอกฎหมายยกเลิก ม.๑๑๒ เข้ามา พรรค ก.ก. จะสนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องขอโทษน้องทั้ง ๒ คน พี่ต้องแก้ไข ม.๑๑๒ ในสภาฯ ก่อน ถ้ายังไม่ได้แก้ ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกันครับ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่ ๑ อันเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ขณะนั้น สนับสนุนการยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ วางบรรทัดฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเหนือการเมือง เป็นกลาง การกระทำใดๆ ทั้งส่งเสริม หรือทำลาย สูญเสียสถานะเป็นกลาง หรือเหนือการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า แม้ผู้ถูกร้องทั้ง ๒ โต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ มีองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น ต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพก็ตาม แต่ทั้งนี้การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อความสงบ ศีลธรรมอันดี หรือไม่ละเมิดเสรีภาพบุคคลอื่น โดย รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๓๔ กำหนดกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพ สอดคล้องกติการะหว่างประเทศ ไว้ ๓ ข้อ ๑. ต้องไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยต่อชาติ ๒. ต้องไม่กระทบความสงบเรียบร้อย ๓. ต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง ๒ มีพฤติการณ์ใช้เสรีภาพความเห็นเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้น หรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา ๑๑๒ และใช้เป็นนโยบายพรรค แม้เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา ๑๑๒ มีลักษณะดำเนินการต่อเนื่อง เป็นขบวนการ ใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม จัดกิจกรรม รณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ การใช้นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้ง ๒ กระทำต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุในการล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง ๒ จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ ๔๙ วรรคหนึ่ง โดยวรรคสองให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้tt ttศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง ๒ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ ๔๙ วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง ๒ เลิกการกระทำ แสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ ๔๙ และ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๑ มาตรา ๗๔ ทั้งนี้คำวินิจฉัยศาล รัฐธรรมนูญ ย่อมมีผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่การวิจารณ์คำวินิจฉัยโดยไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๑ มาตรา ๓๘ วรรคท้าย มีโทษทั้งตักเตือน จำคุก หรือปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท