Thursday, 19 December 2024

ปั้นโคดำลำตะคอง ซอฟต์พาวเวอร์โคราช

07 Feb 2024
113

“โคลำตะคองเป็นความร่วมมือระหว่างเอ็นไอเอกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เริ่มพัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เริ่มควบคุมคุณภาพและความนิ่งของสายพันธุ์ได้เมื่อปี ๒๕๖๓ เป็นวัวที่เกิดจากนวัตกรรมการผสม ๓ สายพันธุ์ของโคพื้นเมือง วากิว และแองกัส โดยดึงเอาคาแรกเตอร์และคุณภาพเนื้อที่โดดเด่นแตกต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ ได้แก่ ลูกผสมพื้นเมืองที่มีรสชาติเข้มข้นและกลิ่นหอม มีความถึกทน วากิวมีเอกลักษณ์ที่ปริมาณไขมันแทรกในเนื้อคล้ายกับลายหินอ่อน และแองกัสมีการเจริญเติบโตไว มีอัตราการแลกเนื้อสูง และทนต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ดี ปัจจุบันสามารถทำให้เกิดพ่อพันธุ์กึ่งสำเร็จรูป ลูกผสม ๓ สายเลือด โดยการผสมเพียงครั้งเดียว ลดระยะเวลาในการผลิตลงไป ๓ ปี โดยขณะนี้พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการที่สนใจแล้ว”tt ttดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA (เอ็นไอเอ) อธิบายถึงที่มาของโคลำตะคอง ที่กำลังถูกผลักดันให้เป็นเนื้อเกรดพรีเมียม ทดแทนการนำเข้าที่มีกว่า ๗,๐๐๐ ล้านบาทต่อไปtt ttนอกจากความพิเศษของสายพันธุ์โคดำลำตะคองแล้ว ยังมีการเลี้ยงอย่างประณีตและพิถีพิถันตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ รวมถึงสูตรอาหารเฉพาะที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเสริมด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของโคในสูตรอาหาร โดยปริมาณที่แตกต่างไปตามช่วงอายุ ทำให้โคเหล่านี้มีสุขภาพดี จึงเป็นเนื้อโคไทยคุณภาพสูง มีกลิ่นรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะของชั้นไขมันแทรกระหว่างเนื้อ และมีโอเมก้า ๙ ที่สำคัญเนื้อโคที่เกษตรกรเลี้ยงแบบเดิมขายได้ กก.ละ ๘๒ บาท ส่วนโคเนื้อคุณภาพสูงสามารถขายได้ ๑๐๕-๑๔๕ บาท คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นขั้นต่ำต่อปี ๒๘% และหากเกษตรกร สามารถพัฒนาคุณภาพเนื้อโคคุณภาพสูงได้ถึงเกรดสูงสุด เกษตรกร จะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึงปีละ ๖๕%tt ttผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ด้วยศักยภาพของพื้นที่ จ.นครราชสีมาและกลุ่มนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ขณะที่โคเนื้อ ๕๐% จากโคเนื้อทั่วประเทศ ๑,๔๙๕ ล้านตัวก็ผลิตจากพื้นที่แถบนี้ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลิตอาหารโค ขณะเดียวกันข้อมูลจากปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาพบว่า มีเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อกว่า ๑๘๕,๔๐๐ ราย เป็นโคเนื้อมากกว่า ๕๓๐,๐๐๐ ตัว มีฟาร์มโคเนื้อที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP ๗ แห่ง ฟาร์มโคเนื้อที่ได้รับรองมาตรฐาน GFM ๑๓๓ แห่ง และมีโรงเชือดที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP อีกทั้งยังมีเครือข่ายที่มีเทคโนโลยีสนับสนุนการเพิ่มมูลค่ามากมาย เช่น เทคโนโลยีการแยกเพศอสุจิโคด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี การมีศูนย์ตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมด้วยเทคนิค เพื่อตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมร่วมกับการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอที่ถูกพัฒนาขึ้น เราจึงหวังพัฒนาและผลักดันให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงของประเทศไทย ทั้งในฐานะแหล่งผลิตโคเนื้อ และเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการสร้างมาตรฐานการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงtt ttขณะเดียวกัน จ.นครราชสีมา มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย รวมถึงยังมีร้านอาหารจำนวนมากที่มีเมนูสเต๊กและใช้เนื้อวัวคุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบ จึงมีโอกาสผลักดันให้เนื้อวัวโคดำลำตะคอง กลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ได้ ดังนั้นเอ็นไอเอจึงได้ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดงาน Thailand Beef Fest ๒๐๒๔ ขึ้นในวันที่ ๑-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ โดยมีกิจกรรมไฮไลต์ ได้แก่ นิทรรศการแสดงพันธุ์วัวไทย เทคโนโลยีการถ่ายทอดพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง โรงเลี้ยงจำลอง จัดแสดงสายพันธุ์วัว นิทรรศการพันธุ์วัวเนื้อต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล โชว์การทำอาหารจากเนื้อวัวเกรดพรีเมียมโดยเชฟมืออาชีพ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูงในพื้นที่ และสร้างปรากฏการณ์สำหรับคนรักเนื้อวัวไทยกับการรวมที่สุดของเนื้อคุณภาพพรีเมียมในประเทศไทยtt ttอีกทั้งยังเป็นโอกาสในการร่วมศึกษาและต่อยอดไปสู่ “ย่านนวัตกรรมโคเนื้อ” เพื่อคิด ผลิต ขาย และพัฒนาโคเนื้อที่มีคุณภาพ อันจะช่วยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต หากประสบความสำเร็จก็สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว กลุ่มเมืองรอง และเมืองอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ เอ็น.วี.เค.ฟาร์ม โปรดักส์ จำกัด ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยสุรนารี โทร. ๐๘-๑๔๘๗-๑๐๘๑.กรวัฒน์ วีนิลคลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม