Thursday, 19 December 2024

ความหวังใหม่

หุ้นจีนพุ่งทั้งกระดาน เมื่อ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” ออกโรงเอง บุกหารือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีน เพื่อแก้วิกฤติศรัทธาที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง พร้อมมีแผนตั้งกองทุนพยุงหุ้นมูลค่าสูงถึง ๒ ล้านล้านหยวน ขณะที่บริษัทด้านการลงทุนของรัฐบาลจีนประกาศเข้าซื้อกองทุน ETF และซื้อหุ้นในตลาดมากขึ้น เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้นภายในประเทศ แถม “ก.ล.ต.ของจีน” ยังเรียกเสียงเฮ สั่งระงับไม่ให้บริษัทโบรกเกอร์ยืมหุ้นเพื่อนำมาปล่อยขายชอร์ต และจำกัดปริมาณการรีไฟแนนซ์ของบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อควบคุมการทำชอร์ตเซลเก็งกำไรในตลาดหุ้นจีนก่อนที่รัฐบาลจีนจะตาสว่างและเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ย้อนกลับไปสำรวจช่วงตกหล่ม ๓ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี ๒๐๒๑-๒๐๒๓ ถือเป็นห้วงเวลาที่หนักหน่วงสุดๆสำหรับตลาดหุ้นจีน ซึ่งติดลบมาต่อเนื่องถึง ๓ ปีซ้อนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๓ ทศวรรษ ดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นจีน MSCI China ตัวแทนตลาดหุ้นจีนโดยรวม ติดลบ ๔๘%, ดัชนี FTSE A ๕๐ ตัวแทนตลาดหุ้นจีนในประเทศ ติดลบ ๓๕% และดัชนีฮั่งเส็ง ตัวแทนตลาดหุ้นจีนที่ลิสต์ในฮ่องกง ติดลบ ๓๘% อ่วมสุดก็เห็นจะเป็นอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าไอทีถามว่าอะไรคือตัวการกดดันให้เกิดวิกฤติเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องถึง ๓ ปีซ้อน ล้วนมาจากนโยบายควบคุมระบบเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้นของรัฐบาลจีน ไล่ตั้งแต่นโยบาย “zero-COVID policy” ที่ยืดเยื้อมายาวนานตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เพิ่งมายกเลิกในช่วงต้นปี ๒๐๒๓ ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ปิดเมืองหลักๆทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก ฉุดรั้งจีดีพีให้เติบโตลดลง โดยภาคการบริโภคตกเป็นเป้าหนักสุดซ้ำเติมด้วยนโยบาย “Three Red Line” ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีน้ำหนัก ๑ ใน ๓ ของจีดีพีทั้งประเทศ เมื่อรัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมในปี ๒๐๒๐ ออกกฎเข้มในการประเมินการกู้ยืมของบริษัทอสังหาฯ โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ต้องไม่เกิน ๗๐%, อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนต้องไม่เกิน ๑๐๐% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อการกู้ยืมระยะสั้นต้องไม่เกิน ๑ เท่า ใครไม่เข้าเกณฑ์ตามนี้ก็หมดสิทธิ์ขอกู้เงิน ผลลัพธ์คือบริษัทที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่ง และซุกปัญหาไว้ใต้พรม เช่น “เอเวอร์แกรนด์” ไปต่อไม่ไหวต้องประกาศล้มละลายในปี ๒๐๒๑ กลายเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติอสังหาฯลามไปทั่วประเทศจีนเรื่องเก่ายังไม่ทันได้แก้ ปัญหาใหม่ก็ผุดขึ้นมาอีก ผลจาก “นโยบายต่อต้านการผูกขาดทางการค้า” ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในจีนที่กำลังรุ่งสุดขีดต้องโดนค่าปรับกันทั่วหน้า ฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบมานานหลายปีจากการครอบงำตลาด ไม่ว่าจะเป็น “อาลีบาบา” ของ “แจ็ค หม่า” เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซจีน ที่โดนปรับ ๒.๗๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ “เหม่ยถวน” บริษัทดีลิเวอรียักษ์ใหญ่ของจีน โดนปรับ ๕๓๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาหุ้นทิ้งดิ่งไม่หยุดไหล เพราะนักลงทุนต่างชาติสูญเสียความเชื่อมั่นเช่นเดียวกับธุรกิจด้านการศึกษามูลค่าแสนล้านหยวนก็โดนรัฐบาลจีนจัดระเบียบใหม่หมด โดยออกกฎควบคุมโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศห้ามแสวงหากำไรเด็ดขาดและบังคับให้จดทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ส่งผลให้บริษัทกวดวิชายักษ์ใหญ่อย่าง “TAL Education” ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงและสหรัฐฯ มีมูลค่าลดลงกว่า ๙๐% ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ คำสั่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงการห้ามออกใบอนุญาตใหม่เพิ่ม, ห้ามนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น และห้ามระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติม สาเหตุที่โดนพุ่งเป้าคุมกำเนิด เพราะรัฐบาลจีนมองว่าเป็นธุรกิจที่ทำลายธรรมชาติของการศึกษาสถานการณ์ในจีนขณะนี้คล้ายคลึงกับตลาดหุ้นจีนเมื่อปี ๒๐๑๕ ถึงต้นปี ๒๐๑๖ ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และรัฐบาลพยายามลดการก่อหนี้ ทำให้กระทบบรรยากาศการลงทุนและต้องเผชิญกับวิกฤติทุนไหลออกอย่างหนัก แม้รัฐบาลจีนจะออกมาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมสถานการณ์ในตลาด แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าคลื่นลมจะสงบลงได้ ถ้าให้ถอดจากบทเรียนเก่า มันจะไม่ใช่การฟื้นตัวแบบรูปตัววีที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน แต่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่านักลงทุนจะกลับมามีความมั่นใจในตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง.มิสแซฟไฟร์คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม