Sunday, 19 January 2025

กว่าจะได้ลูกพญาแร้ง ตัวแรกผืนป่าห้วยขาแข้ง จากความรักพ่อป๊อกและแม่มิ่ง

14 Feb 2024
123

๑๔ ก.พ. วันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก ยังเป็นวันรักษ์พญาแร้ง จากโศกนาฏกรรม ๑๔ ก.พ. ๒๕๓๕ พญาแร้งฝูงสุดท้ายกลางผืนป่าห้วยขาแข้ง ล้มตายเกือบยกฝูง หรือเรียกว่าสูญพันธุ์ไปก็ได้ เพราะนายพรานป่าวางยาเบื่อเนื้อเก้ง หวังให้เสือโคร่งมากิน แต่กลับกลายเป็นฝูงพญาแร้งลงมากินซาก จนตายไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีใครพบเห็นพญาแร้งในป่าห้วยขาแข้งอีกเลย เป็นเวลากว่า ๓๒ ปีพญาแร้ง เปรียบเสมือนเทศบาลประจำป่า คอยกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสัตว์ป่า ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง เนื้อที่ประมาณ ๑๗๐,๐๐๐๐ กว่าไร่ และเมื่อฝูงพญาแร้งล้มตายไป นำไปสู่การจัดตั้งโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ให้กลับมาโบยบินอีกครั้ง จากความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร  กระทั่งมีข่าวดีได้ลูกพญาแร้งเป็นตัวแรก สร้างความดีใจให้กับทีมงาน และกว่าจะได้ลูกพญาแร้ง “ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์” นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งฯ เล่าถึงเบื้องหลังว่า ทั้ง ๔ หน่วยงานได้ร่วมมือกันทำงาน เพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในธรรมชาติในพื้นป่าห้วยขาแข้ง และในสวนสัตว์นครราชสีมา โดยในส่วนห้วยขาแข้ง มีการย้ายพ่อพันธุ์พญาแร้ง มาจากสวนสัตว์นครราชสีมา ให้มาผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์พญาแร้งที่ชาวบ้านนำมาให้ เมื่อวันที่ ๑๔ ก.พ. ๒๕๖๕ จนมีการวางไข่และประสบความสำเร็จมีลูกพญาแร้ง ๑ ตัว“การขยายพันธุ์พญาแร้งไม่ใช่เรื่องง่าย ละเอียดอ่อนมาก เพราะนอกจากพญาแร้งตัวเมียจะจับคู่เลือกตัวผู้ที่ใช่แล้ว จะต้องมีกรงในพื้นที่กว้าง มีซากสัตว์เป็นอาหาร และในห้วยขาแข้งก็มีเสือ เป็นผู้ล่า ทำให้มีซากสัตว์ และที่สำคัญไข่ของพญาแร้ง ๑ ฟอง เมื่อฟักออกมาจะมีอัตรารอดประมาณ ๒๐% อาจไม่มีลูกก็ได้ และถ้าปีใดสภาพแวดล้อมไม่สมบูรณ์ ก็จะผสมพันธุ์ในปีถัดไป” ลูกพญาแร้งตัวแรก มาจากความรักของพ่อป๊อก จากสวนสัตว์นครราชสีมา และแม่มิ่ง ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีการดูใจมานาน ๑ ปี จนมีการทำรังวางไข่และช่วยกันดูแลฟูมฟักกกไข่ กระทั่งลูกน้อยเจาะเปลือกไข่ออกมาดูโลกเมื่อวันที่ ๙ ก.พ. ๒๕๖๗ อยู่ในกรงฟื้นฟูขนาดใหญ่ กว้าง ๒๐×๔๐ เมตร สูง ๒๐ เมตร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อผ่านมากว่า ๖ วัน ลูกพญาแร้งเริ่มชูคอได้แล้ว เริ่มรับอาหารจากการป้อนของแม่มีการพัฒนาเป็นลำดับๆ และทั้งพ่อและแม่สลับกันดูแลไม่ห่าง ในการกกลูกช่วงอากาศหนาวเย็น แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ ยังคงเฝ้าระวังในการขั้นตอนการอนุบาลอีกต่อไป ประมาณ ๑๕ วัน ว่าสามารถอยู่ได้หรือไม่ และพ่อแม่เลี้ยงลูกได้หรือไม่ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ หากผ่านระยะเวลา ๖ เดือนขึ้นไป หรือ ๑ ปี ถือว่าสามารถอยู่ได้ แม้อยู่ท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวน ก็ไม่เป็นปัญหา แต่กังวลว่าหากฝนตกหนัก จะเกิดความชื้น เพราะชิ้นเนื้อที่แม่คาบมาป้อนให้ลูกอาจชื้น จนติดเชื้อโรคมาได้ “ตอนนี้ยังไม่ทราบเพศของลูกพญาแร้ง เพราะเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่สามารถตรวจเช็กได้ คิดว่ารอให้แข็งแรงก่อนจะสามารถเจาะเลือดตรวจดูได้ น่าจะ ๖ เดือนขึ้นไปจะรู้ว่าเป็นเพศอะไร จริงๆ แล้วเพศอะไรก็ได้ ถ้าเป็นเพศเมีย เมื่ออายุ ๑๐-๑๕ ปี ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ก็จะเลือกตัวผู้ในการสร้างรัง เพิ่มอัตราการวางไข่มากขึ้น จากปัจจุบันเรามีพญาแร้งเพศผู้เพศเมียอยู่ ๓ คู่ อยู่สวนสัตว์โคราช ๒ คู่ มีเด็กน้อยแล้ว ๑ ตัวเป็นตัวเมีย และล่าสุดห้วยขาแข้ง ๑ คู่ จากความรักของพ่อป๊อกและแม่มิ่ง เพิ่งมีลูกด้วยกัน”ปกติแล้วพญาแล้งมีอายุขัยประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไป หากอยู่ในกรงเลี้ยงจะอายุยืนยาวมากถึง ๖๐ ปีขึ้นไป แต่อัตราการให้ไข่ก็จะน้อยลง กว่าช่วงวัยเจริญพันธ์ุ โดยจะวางไข่ปีเว้นปี ได้ไข่ประมาณ ๒๐ ฟอง อาจเหลือไม่ถึง ๑๐ ฟอง เพราะอัตรารอดเพียง ๒๕% หรืออาจได้ลูกประมาณ ๕ ตัวเท่านั้นแต่หากอยู่ในกรงอาจวางไข่ทุกปี ซึ่งต้องมีอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะห้วยขาแข้ง สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยในการเจริญเติบโตของลูกพญาแร้ง เมื่อเสือกินสัตว์ป่าที่ล่ามาไม่หมด ก็จะเหลือเป็นซากเน่าๆ ให้พญาแร้งมารุมกิน และต้องติดตามลูกพญาแร้งตัวแรกว่าจะเป็นอย่างไร หากรอดก็จะมีการตั้งชื่อ และพิจารณาในการปล่อยสู่ธรรมชาติต่อไป.