Thursday, 19 December 2024

“ชัยธวัช” อภิปรายปมขบวนเสด็จ ไม่ควรผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้

“ชัยธวัช” อภิปรายญัตติด่วนขบวนเสด็จ ต้องยอมรับ เหตุที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางความคิด ชี้ ไม่ควรจัดการสถานการณ์แบบผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ พร้อมติงฝ่ายกระทำควรไตร่ตรองเช่นกัน เมื่อเวลา ๑๕.๔๕ น. วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ แผนและมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน เพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ โดยมี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ โดย นายชัยธวัช เริ่มต้นอภิปรายว่า ฟังการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกแล้วมีความเห็นร่วมกันหลายอย่าง ๓ ประการ ดังนี้๑. เราเห็นตรงกันว่าการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำทางการเมือง หรือแม้แต่บุคคลสาธารณะที่สำคัญนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องหลักปฏิบัติสากล๒. เราเห็นตรงกันว่า ขบวนเสด็จในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร ๓. เราต่างเห็นตรงกันว่า ไม่อยากเห็นเหตุการณ์อย่างวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ เกิดขึ้นอีก นายชัยธวัช ระบุต่อไปว่า ดีใจที่ นายเอกนัฏ ยอมรับว่าตัวเองเกิดความรู้สึกโกรธในแวบแรกที่ได้รับทราบเหตุการณ์ แต่จากนั้นสงบสติอารมณ์ได้ เพราะนึกถึงพระราชดำรัสที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม แล้วจึงคิดที่จะเสนอวิธีการที่จะบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์อย่างวันที่ ๔ กุมภาพันธ์นั้น เกิดการบานปลาย นำไปสู่การปะทะขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่โตกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่เราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ได้อย่างไร นี่เป็นประเด็นที่เราควรจะถกเถียงอภิปรายอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ตนยังยืนยันว่าเวลาเราพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการถวายความปลอดภัยสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวนี้ เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ แผน ในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๒๐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภายใต้ และเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายครั้งเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง อีกทั้งเราทราบกันดีว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยอันเกิดจากเรื่องการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางความคิด ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้านว่าเราจะจัดการบริหาร จัดการการถวายความปลอดภัยและการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร “แน่นอนวันนี้คงไม่ใช่วาระที่จะมาพูดปัญหาการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยละเอียด แต่ผมคิดว่าอย่างหนึ่งประเด็นหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีของ คุณตะวัน (น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์) ก็คือว่า มันต้องมีปัญหาอะไรอย่างแน่นอน ที่รัฐไทยสามารถทำให้คนคนหนึ่งที่เขาแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองของเขาด้วยการถือกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วผลักให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมากไม่คิดว่ามีใครจะกล้าทำ มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง เมื่อประชาชนคนหนึ่งเขาอยากจะพูด แต่เราไม่อยากฟัง เพราะไม่น่าฟัง และไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน แล้วเราพยายามจะไปปิดปากเขา สุดท้ายเขาก็เลยเลือกตัดสินใจที่จะตะโกน แล้วมันก็นำมาสู่สถานการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา นี่เป็นบทเรียนอย่างน้อยอย่างหนึ่งที่เราควรจะพิจารณากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร”ส่วนคนที่กำลังตะโกนอยู่ ก็ควรไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้นด้วย การตะโกนแล้วยิ่งทำให้ไม่มีใครฟัง อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะฝ่ายไหน เราไม่ควรจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ อย่าใช้น้ำมันดับไฟ นอกจากข้อเสนอการทบทวนกฎหมายต่างๆ แล้ว ตนคิดว่าสิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้ คือกุศโลบายทางการเมือง พร้อมระบุว่า ตนเองไม่สบายใจที่ได้ยินสมาชิกฝั่งรัฐบาลพูดถึงว่า “ถ้าไม่พอใจให้ไปอยู่ประเทศอื่น, หนักแผ่นดิน, นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง” ฟังแล้วนึกว่ายังอยู่ในรัฐบาลจากการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่าการใช้ความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน สุดท้ายไม่สามารถส่งผลดีกับใครเลย เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ สอนเราแล้วว่า ต่อให้ใช้กำลัง ใช้อาวุธร้ายแรง ใส่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง ก็ไม่ใช่ทางออก และสุดท้ายหวังว่ารัฐบาล สส. จะมีสติ ระงับความโกรธ แล้วใช้กุศโลบายทางการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ เพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุดเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกัน สามารถที่จะหาจุดร่วมกันได้ ให้ประเทศไทยออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบ ๒ ทศวรรษ ประเทศเราจะได้มีสมาธิเดินต่อ เผชิญหน้ากับโลกที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ และจบการอภิปรายในเวลา ๑๕.๕๖ น.