Tuesday, 19 November 2024

ปั๊มลูกช่วยชาติ เงื่อนไขผสมเทียม ใช้สิทธิมีบุตรยาก กล้าไหมจ่ายคนละครึ่ง

14 Feb 2024
136

ปั๊มลูกช่วยชาติ รัฐเตรียมออกมาตรการส่งเสริมผู้มีบุตรยาก หลังจำนวนประชากรเกิดใหม่น้อยสุดรอบ ๗๐ ปี พร้อมงัดมาตรการช่วยเหลือ ด้วยเทคโนโลยีผสมเทียม โดยแพทย์มองประเด็นนี้ว่า รัฐควรออกเงินช่วยเหลือคู่แต่งงานที่มีบุตรยากคนละครึ่ง แต่ต้องวางเกณฑ์อายุผู้ทำ และแก้กฎหมาย ถึงจะกระตุ้นการมีลูกได้จริงวันนี้ (๑๔ ก.พ. ๖๗) ตัวแทนรัฐบาลประกาศว่า มีนาคมนี้ เตรียมพิจารณามาตรการส่งเสริมการมีบุตร สนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกแห่งจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก เพิ่มศักยภาพในการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้สามารถให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้มากขึ้น และเตรียมแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากมีคู่ ให้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้ ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมาแม้ไทยมีนวัตกรรมการผสมเทียม แต่คู่รักบางส่วน ไม่ได้เข้ามาปรึกษา เนื่องจากมีราคาสูง หลายคนยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่ถ้ารัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมสำหรับคนมีบุตรยาก จะช่วยเพิ่มประชากรได้ทั่วถึงมากขึ้นหากหน่วยงานรัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย กรณีการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) โดยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง เป็นการช่วยให้คู่ที่มีบุตรยาก เข้ามาปรึกษามากขึ้น เพราะทุกวันนี้มีโรงพยาบาล และหน่วยงานสาธารณสุขกว่า ๑๑๔ แห่ง/ทั่วประเทศขณะเดียวกัน ถ้ามีมาตรการส่งเสริมผู้มีบุตรยาก หากรัฐมีมาตรการช่วยเหลือ ควรมีการกำหนดอายุ เพื่อให้เป็นกรอบที่ชัดเจน ในการพร้อมมีบุตร และอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการผสมเทียมในมนุษย์ มีด้วยกันดังนี้- การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) มีค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก แต่ก็ถือว่าสูงในคนที่หาเช้ากินค่ำ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่นำอสุจิของฝ่ายชาย ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง แต่โอกาสสำเร็จอาจมีน้อย- การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มีค่าใช้จ่าย ๑ แสนบาทขึ้นไป โดยการทำมีราคาสูงขึ้น หากมีกระบวนการตั้งครรภ์แทน แต่เป็นการทำในกรณีภรรยาของตนเองจะมีราคาลดลง กรณีนี้หากรัฐมีมาตรการส่งเสริม ออกเงินช่วยเหลือในการทำครึ่งหนึ่ง ช่วยกระตุ้นเพิ่มการมีบุตรได้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก ต้องมีหลักเกณฑ์ชัดเจน เมื่อมีการผสมเทียม คู่สมรสต้องเลี้ยงเด็กให้อยู่รอดปลอดภัย และต้องมีการแก้กฎหมายรองรับ การผสมเทียม เพราะเดิมรองรับเฉพาะสามีภรรยา คือชาย-หญิง ดังนั้น ควรแก้ไขให้เป็นกฎหมายคู่ชีวิต รองรับคู่แต่งงานที่มีความหลากหลายทางเพศ มีผลต่อการใช้เทคโนโลยีผสมเทียม ที่คู่รักเพศเดียวกัน สามารถฝากครรภ์ทั้งนี้ ไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยต่อเนื่อง โดยปี ๒๕๖๕ มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง ๔๘๕,๐๘๕ ราย น้อยที่สุดในรอบกว่า ๗๐ ปี และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ มีการคาดการณ์ว่า อีก ๖๐ ปี ข้างหน้าจำนวนประชากรไทยลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง ๓๓ ล้านคน เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง