Thursday, 19 December 2024

โฆษก สธ. ฝ่ายการเมือง ขอบคุณอินฟลูฯ ออกมาขอโทษ หลังเผยแพร่ข้อมูลครอบครองยาเสพติดผิดพลาด

น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า หลังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎกระทรวง ที่กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ๒๕๖๗ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการสื่อสารจากบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อสังคม หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ว่าการครอบครองยาเสพติดไม่ผิดกฎหมาย หรือครอบครองต่ำกว่า ๕ เม็ด ไม่ผิดกฎหมาย จนส่งผลกระทบและสร้างความตื่นตระหนกให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนออกกฎหมาย สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากอย่างไรก็ดี ขณะนี้อินฟลูเอนเซอร์หลายคนออกมาขอโทษผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังมีบางส่วนที่ยังเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงมาก จึงอยากให้ศึกษากฎกระทรวงอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนทำคอนเทนต์เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม โดยกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับรอง ออกตามกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ ม.๑๐๗ วรรคสองที่เป็นกฎหมายหลัก ที่บัญญัติว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภท ๑ หรือประเภท ๒ ในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง สาระสำคัญ คือ เมดแอมเฟตามีนหรือยาบ้า ถ้าครอบครองไม่เกิน ๕ เม็ด หรือมีน้ำหนักไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัม เมื่อถูกจับให้ ‘สันนิษฐานก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ’ ถือเป็นผู้ป่วยจิตเวช ต้องเข้ารับการบำบัดรักษา พร้อมย้ำว่า การครอบครองยาบ้าไม่ว่าจะมากหรือน้อยเท่าไรก็ตาม ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ขึ้นกับพฤติการณ์ของบุคคลผู้นั้น ในด้านของเจ้าหน้าที่จะมีความชัดเจนในการปฏิบัติ ตั้งแต่ตำรวจที่มีหน้าที่จับกุม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ อัยการ ศาล เป็นต้น ถ้าผู้มียาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือมียาบ้า เพื่อขายจะครึ่งเม็ด หรือกี่เม็ด ก็ผิด ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ ในด้านของผู้เสพหากถูกจับถ้ามีพฤติการณ์เป็นผู้เสพ หากสมัครใจบำบัดก็จะได้เข้ารับการบำบัด เป็นการช่วยเหลือให้เข้าสู่ระบบบำบัดได้ทันที ไม่ต้องถูกส่งตัวไปดำเนินคดี หากเทียบกับในอดีต และต้องผ่านขบวนการตามขั้นตอนบำบัดทางสาธารณสุข ทำให้ผู้เสพที่มีโอกาสกลับใจไม่สามารถเข้ารับการบำบัดได้ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง ย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุข มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ทำหน้าที่ให้บริการด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย เพื่อสังคมที่ปลอดภัยจากยาเสพติด มีการเตรียมความพร้อมของชุมชนที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับการบำบัดแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานในชุมชนที่เรียกว่า พอช. ทำหน้าที่ช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเต็มกำลัง ‘กฎกระทรวงคลอดออกมาได้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามในกฎกระทรวง หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรรมการ อนุกรรมการต่างๆ ที่รับผิดชอบ ได้รับความเห็นของหน่วยงานรัฐหลายกระทรวง หลายกรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว นพ.ชลน่าน ไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย อยากให้สังคมและประชาชนเข้าใจให้ถูกต้อง ขอให้เชื่อและฟังการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สังคมไขว้เขวไปกันใหญ่’ นางสาวตรีชฎา กล่าว