Sunday, 22 December 2024

มติ สว. ๑๘๖ คะแนน เลือก "ภัทรศักดิ์ วรรณแสง" เป็น กรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่

ที่ประชุม สว. มีมติ เลือก “ภัทรศักดิ์ วรรณแสง” อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยคะแนนเห็นชอบ ๑๘๖ คะแนน ไม่เห็นชอบ ๒ คะแนน ไม่ออกเสียง ๕ คะแนนวันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๖๗ เมื่อเวลา ๑๐.๑๐ น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.พิจารณาตรวจสอบประวัติเสร็จแล้ว ก่อนส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ โดยเป็นการประชุมลับใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ก่อนที่จะให้สว.ลงมติลับในการลงคะแนนผลปรากฏว่า นายภัทรศักดิ์ ได้คะแนนเสียงเห็นชอบ ๑๘๖ คะแนน ไม่เห็นชอบ ๒ คะแนน ไม่ออกเสียง ๕ คะแนน ถือว่า ได้คะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือ ๑๒๕ เสียง ทำให้นายภัทรศักดิ์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวานที่ผ่านมา มติที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ไม่เห็นชอบ “พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง” นั่งเก้าอี้ กรรมการ ป.ป.ช. เหตุขาดคุณสมบัติ ปมตำแหน่ง ผบช.น.ที่ พล.ต.ท. ธิติ ดำรงตำแหน่งนั้น สว.หลายคนเห็นว่า ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี แม้จะอ้าง พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.๒๕๖๒ และระเบียบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่า ด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.๒๕๖๓ ให้ตำแหน่ง ผบช.น. สามารถเทียบเท่าอธิบดีได้นั้น แต่ สว.หลายคนเห็นว่า พระราชบัญญัติและระเบียบ กรมตำรวจดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระ