Thursday, 19 December 2024

มติ สส.ปชป. ยื่นแก้กฎหมายคุมอำนาจราชทัณฑ์ ต่อสภาฯ สืบเนื่องปมพักโทษ “ทักษิณ”

“ราเมศ” เผย มติ สส.ประชาธิปัตย์ เห็นชอบให้ “พิทักษ์เดช” นำทีมยื่นร่างแก้ไข พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ต่อสภาฯ หลัง “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ ชี้ กรมราชทัณฑ์ ต้องมีการถ่วงดุลจากคณะกรรมการอิสระวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรคประชาธิปัตย์ ถึงประเด็นสำคัญ และมีความน่าสนใจ ว่า ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรค เสนอให้ที่ประชุม สส. ให้พิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งได้เคยเสนอโดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กับคณะ ต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา แต่ญัตติได้ตกไปเนื่องจากหมดวาระของสภาชุดดังกล่าวทั้งนี้ เมื่อที่ประชุม สส. ได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จึงมีมติเห็นชอบให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ยื่นต่อสภาฯ ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น. โดยเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ร่างเดิมที่เคยยื่นไว้สมัยสภาฯ ที่ผ่านมาไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา มิเช่นนั้นกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมากนายราเมศ ยืนยันด้วยว่า การยื่นร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่สภาฯ อีกครั้ง ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่ที่ประชุมเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมปลายทาง โดยเฉพาะ กรมราชทัณฑ์ จำเป็นต้องมีการถ่วงดุลจากคณะกรรมการอิสระ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนหลักความถูกต้อง บิดเบือนหลักยุติธรรม ดังนั้นในสาระสำคัญของร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้มีการถ่วงดุลกัน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง รวมทั้งมีการปรับปรุงในส่วนหลักการและเหตุผล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการทางอาญามาตรฐานสากล รวมไปเรื่องรูปแบบ และโครงสร้างของกรมราชทัณฑ์ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก และการพักโทษของผู้ต้องขังที่ต้องมีความรัดกุม และโปร่งใสมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ที่ประชุม สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ให้ความสำคัญต่อกรณีที่ต้องมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการลดวันต้องโทษจำคุก และเรื่องการพักโทษของผู้ต้องขังที่ต้องมีความโปร่งใส และคณะกรรมการต้องประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเป็นผู้พิจารณา สำหรับประการสำคัญของหลักการและเหตุผลของ พระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังกำหนดให้ศาลที่ถึงคดีที่สุดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งในเรื่องของการลดวันต้องโทษจำคุก และเรื่องการพักการลงโทษของผู้ต้องขังด้วย ส่วนสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติที่ได้ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมนี้ มีการกำหนดประเภทของคดีที่สำคัญด้วย โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต คดีอาญาที่สำคัญ คดียาเสพติดที่ร้ายแรง และคดีอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง ซึ่งจะต้องมาทบทวนในเรื่องกระบวนการในการลดโทษจำคุก เพราะหากเป็นคดีที่มีความสำคัญที่มีภัยร้ายแรงต่อสังคม เช่น คดีทุจริต หากจะมีการลดโทษเช่นเดียวกับนักโทษทั่วไป การลดโทษดังกล่าวย่อมไม่มีความเหมาะสมต่อกระบวนการ และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ตลอดจนเป็นความร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม ดังนั้นจึงควรกำหนดให้มีมาตรการ และเพิ่มระยะความปลอดภัยให้แก่สังคมด้วยความเหมาะสมในตอนท้าย นายราเมศ ระบุด้วยว่า “เรื่องความร้ายแรง และคดีต่างๆ เมื่อศาลยุติธรรมได้มีการพิจารณาโทษแล้ว นั่นก็หมายถึงว่า เป็นความต้องการที่จะให้บุคคลนั้นออกไปจากสังคมไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย แต่ถ้ามีกระบวนการหมกเม็ดในคดีอาญาที่สำคัญ โดยเฉพาะคดีทุจริต ก็แสดงว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการทุจริต ซึ่งถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงเป็นเหตุผลที่พรุ่งนี้จะมีการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ต่อสภาฯ”.