มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดงานมหกรรมมูนมังอีสาน ครั้งที่ ๑๕ สกลมาคราฟต์ นำเสนอรูปแบบของชุมชนหัตถกรรม (Craft Village) เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับงานหัตถกรรมพื้นบ้านสู่หัตถกรรมร่วมสมัย ที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสกลนครคืนวานนี้ (๒๐ ก.พ. ๒๕๖๗) ที่บริเวณริมห้วยทราย มหาวิทยาราชภัฏสกลนคร นายชานน วาสิกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดงานมหกรรมมูนมังอีสาน ครั้งที่ ๑๕ ในชื่อสกลมาคราฟต์ เชิญชวนชมนิทรรศการแบบมีชีวิตสาธิตวิถีชุมชน “Sakon Craft Village” ๑๐ นิทรรศการ ๑๐ ศิลปิน กับองค์ความรู้มากมายที่จะเกิดขึ้นภายในงานมหกรรมมูนมังอีสาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวนำเสนอรูปแบบของชุมชนหัตถกรรม (Craft Village) เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับงานหัตถกรรมพื้นบ้านสู่หัตถกรรมร่วมสมัยที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสกลนครจากท้องถิ่นสู่สากล งานนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๒ ก.พ. ๒๕๖๗ นี้ เพื่อตอบสนองนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเป็นการฟื้นฟู สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดสกลนครให้คงอยู่ และเป็นการจัดพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจในงานด้านวัฒนธรรม รวมไปถึงเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไปยังชุมชน โดย นายชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน ๓๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดสกลนคร ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจในสกลนครเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน อนึ่ง การดำเนินงานมหกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน “มูนมังอีสาน” ในปีนี้จะเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ที่จัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เทศบาลนครสกลนคร เครือข่ายศิลปินท้องถิ่น สภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมอำเภอในจังหวัดสกลนคร เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และสร้างเครือข่ายเพื่อขยับกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต และภายในงานมีกิจกรรมสำคัญดังนี้ ๑.การเสวนาวิชาการ : สกลศิลปะและงานฝีมือสู่ตลาดต่างประเทศ ๒.การประกวดแข่งขันสรภัญญะส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ๓.การประกวดแข่งขันเต้น Esan Cover Dance Contest ๔.การจัดนิทรรศการแบบมีชีวิตสาธิตวิถีชุมชนสกลคราฟต์วิลเลจ และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ๕.การจัดนิทรรศการภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้าน การทอผ้า การจักสาน ๖.การแสดงดนตรีพื้นเมือง วงโปงลาวไทอีสาน ๗.การแสดงของชมรมแก่นศิลป์ราชพฤกษ์ ๘.การแสดงของศิลปินพื้นถิ่นเทือกเขาภูพาน ๙.การแสดงหมอลำกลอนย้อนยุค จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร ๑๐.การแสดง แสง สี เสียง “นฤมิตวิจิตรศิลป์แดนดินสกลนคร” ๑๑.ผ้าป่าบุญกองข้าว ครั้งที่ ๖ ของกองพัฒนานักศึกษา