Thursday, 19 December 2024

สงครามยูเครนเข้าสู่ปีที่ ๓ ชะตากรรมเคียฟขึ้นอยู่กับชาติตะวันตก

25 Feb 2024
88

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก้าวเข้าสู่ปีที่ ๓ แล้ว และยูเครนต้องพึ่งพาชาติตะวันตกมากกว่าที่ผ่านมา แต่ปีนี้กลับมีหลายปัจจัยที่อาจกระทบต่อแรงสนับสนุนที่ตะวันตกมีให้แก่พวกเขากองทัพยูเครนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนและเครื่องกระสุนอย่างหนัก และได้แต่รอชาติตะวันตกส่งกระสุนมาเพิ่ม ในขณะที่รัสเซียยิงปืนใหญ่โจมตีพวกเขามากกว่าถึง ๕ เท่านอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่ดึงความสนใจจากชาติตะวันตกไปจากยูเครน ทั้งสงครามที่ฉนวนกาซา และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับยูเครนมากที่สุด หากผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยนคนสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนครบ ๒ ขวบปีไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ ๓ กองทัพเคียฟยังคงพยายามอย่างหนักเพื่อต้านทานการโจมตีจากกองทัพมอสโก และยึดพื้นที่ที่เสียไปกลับคืนมา แต่สถานการณ์ในแนวหน้าในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมาไม่สู้ดีนัก เมื่อพวกเขาต้องเสียเมืองอัฟดีฟกา เพิ่มอีก ๑ เมืองแต่ชะตากรรมของยูเครนไม่ได้ตัดสินกันที่แนวหน้าอย่างเดียว ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ของพวกเขากลับผูกติดกับท่าทีของชาติตะวันตก และพื้นที่อื่นๆ ที่ห่างไกลจากสนามรบกองทัพยูเครนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคน กับเครื่องกระสุนอย่างหนัก ซึ่งเคียฟอ้างว่าคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเสียเมืองอัฟดีฟกาไป ความช่วยเหลือทั้งในด้านอาวุธ, การเงิน และการเมืองจากชาติตะวันตกจึงมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา แต่ในปีนี้กลับมีหลายปัจจัยที่อาจกระทบต่อแรงสนับสนุนที่ตะวันตกมีให้แก่พวกเขา สหรัฐฯ ยังผ่านเงินช่วยเหลือไม่ได้ร่างกฎหมายแพ็กเกจช่วยเหลือฉบับใหม่ของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า ๖ หมื่นล้านดอลลาร์ ที่พวกเขาจะมอบให้แก่ยูเครน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนทางทหาร ยังคงค้างเติ่งอยู่ในสภาคองเกรส ท่ามกลางความคาดหวังจากพันธมิตรชาติตะวันตกที่ต้องการให้รัฐบาลไบเดนผ่านกฎหมายนี้โดยเร็ว เนื่องจากมีความสำคัญยิ่งยวดต่อกองทัพเคียฟนายเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต กล่าวกระตุ้นสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอื่นๆ ระหว่างการประชุมความมั่นคงที่เมืองมิวนิกเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ทุกสัปดาห์ที่เรารอ หมายความว่าจะมีคนถูกสังหารในแนวหน้าของยูเครนมากขึ้น”เมื่อวันที่ ๑๓ ก.พ. ๒๕๖๗ วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเงินช่วยเหลือนี้ได้สำเร็จ แต่ตอนนี้กำลังเผชิญแรงต้านอย่างหนักจากฝ่ายรีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะฝ่ายที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และนายไมค์ จอห์นสัน ประทานสภา ยังคงไม่สะทกสะท้านต่อแรงกดดันจากทำเนียบขาว ที่เรียกร้องให้เริ่มการลงมติผ่านร่างกฎหมายนี้เจ้าหน้าที่จากชาติยุโรปหลายคนกล่าวว่า พวกเขาค่อนข้างมองในด้านบวกเรื่องการอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ของสหรัฐฯ หลังจากได้คุยกับสมาชิกสภาอเมริกันในการประชุมที่มิวนิก แต่คาดว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก ยุโรปอาจเติมกระสุนให้ยูเครนไม่ทันสงครามในยูเครนตอนนี้ส่วนใหญ่กลายเป็นการต่อสู้กันด้วยการระดมยิงปืนใหญ่ไปแล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายยิงเข้าใส่กันวันละหลายพันลูก แต่ความแตกต่างระหว่างพวกเขาคือ ยูเครนใช้กระสุนของตัวเองจนหมดสิ้นแล้ว และต้องรอกระสุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรตะวันตก ส่วนรัสเซียเพิ่มการผลิตกระสุนของตัวเอง และนำเข้ากระสุนจากเกาหลีเหนือกับอิหร่านได้ไมเคิล คอฟแมน นักวิจัยจากองค์กรกองทุนคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพโลก (Carnegie Endowment for International Peace) ซึ่งมีสำนักงานในวอชิงตัน ประเมินว่า รัสเซียกำลังยิงปืนใหญ่ในอัตราที่มากกว่ายูเครนถึง ๕ เท่าขณะที่ ศ.จัสติน บรองค์ นักวิจัยจากองค์กร RUSI ในอังกฤษ เชื่อว่าปัจจัยสำคัญสำหรับยูเครนในปีนี้คือ ชาติพันธมิตรตะวันตกจะสามารถจัดหาเครื่องกระสุนมามอบให้ยูเครนในปริมาณที่พวกเขาต้องการได้ทันหรือไม่ ตะวันตกยังไม่ตัดสินใจเรื่องส่งอาวุธใหม่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้นำยูเครนพยายามผลักดันอย่างหนักให้ชาติพันธมิตรตะวันตกของพวกเขาส่งอาวุธชนิดใหม่มาให้ โดยเฉพาะขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถยิงข้ามไปยังแนวหลังของรัสเซียได้อย่าง ATACMS ของสหรัฐฯ หรือขีปนาวุธ ‘ทอรัส’ (Taurus) ของเยอรมนีนายอันเดอร์ส ฟ็อกห์ ราสมุสเซน อดีตเลขาธิการนาโต และอดีตนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ผู้เป็นมิตรใกล้ชิดกับยูเครนมานาน ยอมรับว่าพวกเขาไม่สามารถเพิ่มการผลิตกระสุนในชั่วข้ามคืนได้ แต่พวกเขาสามารถตัดสินใจเรื่องการส่งอาวุธที่ยูเครนจำเป็นต้องใช้ได้ในทันทีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มอบแต่ขีปนาวุธ ATACMS พิสัยกลางรุ่นเก่าให้แก่ยูเครน แต่ตอนนี้ รัฐบาลไบเดนกำลังหาทางส่งอาวุธระยะไกลที่ใหม่กว่าไปให้ แต่การจะทำเช่นนั้นได้เขาต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายแพ็กเกจช่วยเหลือ ที่ยังคาราคาซังอยู่ตอนนี้เสียก่อนขณะที่ เยอรมนี นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ยังคงไม่โอนอ่อนต่อคำอ้อนวอนจากเคียฟ และนาโต ที่ขอพวกเขาส่งระบบขีปนาวุธล้ำสมัยอย่าง ทอรัส ให้แก่กองทัพยูเครน โดยเจ้าหน้าที่ของเยอรมนีเคยออกมาแสดงความกังวลว่า มิสไซล์ชนิดนี้อาจทำให้สงครามลุกลามเข้าไปในดินแดนรัสเซีย และอาจทำให้เยอรมนีต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรงมากขึ้น สงครามในตะวันออกกลางสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งเริ่มขึ้นหลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ ๗ ต.ค. ๒๕๖๖ ดึงดูดความสนใจจากผู้นำชาติตะวันตก ทำให้พวกเขามีเวลาและพลังงานมอบให้แก่ยูเครนน้อยลง และอาจน้อยลงไปอีกหากสถานการณ์ในตะวันออกกลางเลวร้ายลง หรือสงครามขยายตัวไปสู่ระดับภูมิภาคนอกจากนั้น ผู้ทำของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ยังออกมากล่าวหาชาติตะวันตกว่า ๒ มาตรฐาน จากการที่พวกเขาลงทุนลงแรงช่วยยูเครนอย่างเต็มที่ แต่กลับแทบไม่เคลื่อนไหวเพื่อช่วยกาซา ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งทำให้เคียฟ และชาติพันธมิตรยกประเด็นเรื่องยูเครนมาพูดเพื่อขอการสนับสนุนในการประชุมสุดยอดต่างๆ ได้ยากขึ้น“รัสเซียกำลังได้ประโยชน์จากสถานการณ์เหล่านี้อย่างแน่นอน” นายเซโวลอด เชนต์ซอฟ เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหภาพยุโรปกล่าว “เราทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ เราพยายามมีส่วนร่วมกับพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะทำงานต่อไป นี่เป็นปัญหาที่ยาก” ลุ้นประชุมนาโตเดือนกรกฎาคมถึงแม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกนาโต ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันในวันที่ ๙-๑๑ กรกฎาคมนี้ จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมรภูมิ แต่มันอาจส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมือง และขวัญกำลังใจในยูเครนเพราะในขณะที่ยูเครนกับผู้สนับสนุนบางประเทศยังคงผลักดันให้นาโตเชิญเคียฟเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งจะส่งผลให้ชาติสมาชิกทั้งหมดต้องช่วยยูเครนสู้กับรัสเซีย หรืออย่างน้อยก็ทำให้ยูเครนเข้าใกล้การเป็นสมาชิกมากที่สุดนั้นแต่สหรัฐฯ ซึ่งมีอิทธิพลมากในนาโต กับเยอรมนี เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากมันจะทำให้นาโตเข้าใกล้การขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรงมากขึ้น ซึ่งต้องรอลุ้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างที่การประชุมในเดือนกรกฎาคมนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ อาจเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อสงครามในยูเครนมากที่สุด เพราะตัวเก็งผู้สมัครฝ่ายรีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นาโตมาตลอด รวมทั้งขู่ถอนตัวจากการเป็นชาติสมาชิก เพราะไม่พอใจที่สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งงบทางทหารที่ต้องมอบให้นาโตมากกว่าประเทศอื่นๆส่วนเรื่องสงครามในยูเครน ทรัมป์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางลดความรุนแรงของสถานการณ์ และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือยูเครนมาจนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ตามทรัมป์ยังไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะช่วยยูเครนต่อไปหรือไม่ หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ แม้จะมีอายุถึง ๘๑ ปีแล้ว โดยผลสำรวจความคิดเห็นของสังคมล่าสุดชี้ว่า คะแนนนิยมของไบเดนกับทรัมป์นั้นแทบจะเสมอกัน ขณะที่ชาวอเมริกันตั้งคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับเขา ทั้งเรื่องอายุ, ปัญหาเงินเฟ้อ, นโยบายเศรษฐกิจ, นโยบายชายแดน และนโยบายตะวันออกกลางส่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ในวัย ๗๗ ปี มีคะแนนนำผู้แข่งร่วมพรรค แม้จะเผชิญการฟ้องร้องทางกฎหมายมากมาย แต่โพลของ Reuters/Ipsos เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรีพับลิกันราว ๑ ใน ๔ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ราว ๕๐% ตัดสินใจจะไม่ลงคะแนนให้ทรัมป์ หากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป.ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรีที่มา : reuters, cbc