Thursday, 19 December 2024

“ผู้กอง” สั่งรื้อเขตสปก. ออกทับที่ป่า-อุทยาน ทำให้ถูกกฎหมายเคร่งครัด

26 Feb 2024
150

“ธรรมนัส” สั่งเลขาธิการ ส.ป.ก. ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่ติดเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐทั่วประเทศ หากพบไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด จัดทำพื้นที่กันชน ระหว่างที่ ส.ป.ก.-อุทยานแห่งชาติ-ป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมเตรียมสำรวจที่ดินว่างเปล่า จัดสรรให้เกษตรกรกลุ่มเปราะบาง-กลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีที่ดินทำกินจากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ตรวจพบหมุด ส.ป.ก.๔-๐๑ โผล่ในบริเวณด้านในถนนแนวกันไฟ บ้านเหวปลากั้ง หมู่ ๑๐ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติ กินพื้นที่กว่า ๒,๙๓๓ ไร่ โดยมีการรื้อถอนหมุดบางส่วนออก และนำไปสู่คำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.นครราชสีมา ๖ คน ให้มาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามด้วยการพูดคุยกันระหว่าง รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและ รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ข้อสรุปเบื้องต้นให้มีการตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนโดยกรมแผนที่ทหารและตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมาดังกล่าวต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ผู้สื่อข่าวรายงานว่าร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามคำสั่งด่วนถึงเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เรื่อง นโยบายการดำเนินการบริเวณเขตพื้นที่กันชน (Buffer Zone) กับเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้การบริหารจัดการพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเหมาะสมตามหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และบริบทความจริงของสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายและขอให้ ส.ป.ก. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเคร่งครัดดังต่อไปนี้ ๑) ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณพื้นที่ตามแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และพื้นที่ต่อเนื่องว่าเป็นการจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด ๒) จัดทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกันพื้นที่ดังกล่าวให้จัดทำเป็นป่าในเขตปฏิรูปที่ดิน ๓) ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณรอยต่อกับพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐอื่นๆ โดยให้ดำเนินการทั่วทั้งประเทศว่ามีกรณีจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด หากพบว่าการจัดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องโดยเคร่งครัด และ ๔) เตรียมการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรหรือที่ดินว่างเปล่ารองรับเกษตรกรกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีที่ดินทำกินโดยให้จัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเหล่านี้ตามระเบียบ ส.ป.ก.ต่อไป โดยให้ยึดถือตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดขณะที่บริเวณหน้าด่านทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กลุ่มเพื่อนเขาใหญ่ นำโดยนายสาโรจน์ ประพันธ์ และนายอำนวย อินทรักษ์ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดงานรณรงค์ SAVE เขาใหญ่ให้ปลอดภัยจาก ส.ป.ก.เป็นวันที่สอง โดยมีเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ ๒๒ องค์กร กลุ่มศิลปิน รวมถึงนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ มาร่วมงานและขึ้นเวทีร้องเพลงให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้ฟัง เช่นเดียวกับนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นำวงดนตรีพยัคฆ์ไพรใจดีมาร่วมเล่นดนตรี บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการอภิปรายโจมตีขบวนการออก ส.ป.ก.สลับกับการเล่นดนตรีจากนั้นนายสาโรจน์ได้อ่านแถลงการณ์ว่าการบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อออกเอกสารสิทธิให้กลุ่มทุนการเมืองในลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ครั้งนี้กลุ่มทุนการเมืองอาจแพ้ แต่ไม่ได้หมายความว่าป่าเขาใหญ่จะไม่ถูกบุกรุกคุกคามในลักษณะเช่นนี้อีก วิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ ภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็งในการปกป้องป่า ไม่ให้มีการทุจริตโดยใช้อำนาจกลไกเจ้าหน้าที่รัฐออกเอกสาร ส.ป.ก.ที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการ พื้นที่ป่าเขาใหญ่บริเวณที่มีการออกเอกสาร ส.ป.ก.เป็นพื้นที่ที่มีราคาที่ดินสูงมากไร่ละตั้งแต่ ๕-๒๐ ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่ากลุ่มทุนและกลุ่มทุนการเมืองพยายามที่จะบุกรุกยึดครอง โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐออกเอกสารเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของตนมาโดยตลอด ดังนั้นประชาชนต้องปกป้องป่าเขาใหญ่ ร่วมกันต่อต้านพวกที่เห็นแก่ตัวจ้องจะฮุบผืนป่าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียวอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่