Thursday, 19 December 2024

“อุเทนถวาย” เดินขบวนค้าน ไม่ยอมย้ายสถาบัน! ลุยบุกกดดันรมว.อว.

28 Feb 2024
151

ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายนับพันคน เดินขบวนคัดค้านสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ที่ขอคืนพื้นที่และให้ย้ายที่ตั้งสถาบันไปอยู่ที่อื่น เรียกร้องให้มีการแก้ไขโฉนดที่ดินใหม่ให้ยกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อการศึกษาเท่านั้น เหตุหวั่นจุฬาฯจะนำไปเซ็งลี้เป็นพื้นที่พาณิชย์ ก่อนเคลื่อนขบวนไปปิดหน้ากระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขอพบ “ศุภมาส อิศรภักดี” รัฐมนตรีว่าการเจ้ากระทรวง เจ้าหน้าที่ ต้องมาปิดประตูรั้วป้องกันเหตุไม่คาดฝัน ขณะที่สมาคม ศิษย์เก่าและคณาจารย์อุเทนถวายแยกกำลังไปบุกทำเนียบฯขอนายกฯอย่าย้ายอุเทนถวายและยังบุกสภาฯจี้แก้ พระราชบัญญัติจุฬาฯ ด้านนายกฯระบุปมย้ายอุเทนถวายต้องยึดกฎหมาย ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน “อุเทนถวาย” รวมตัว เดินขบวนคัดค้านสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยที่จะขอคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กทม. เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๒๗ ก.พ. สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย และสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย ตัวแทนสมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวายกว่า ๒,๕๐๐ คน รวมตัวชุมนุมแสดงพลังคัดค้านการย้าย วิทยาเขตอุเทนถวาย ออกจากที่ตั้งบนถนนพญาไท กลุ่มนักศึกษาจัดแถวแบ่งลำดับขบวนตามรุ่นการศึกษา ทำพิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรมตามความเชื่อ แล้วเคลื่อนขบวนออกจากสถาบันมุ่งหน้าไปสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ที่อยู่บนถนนพญาไทเช่นกันกลุ่มนักศึกษาและบรรดาศิษย์เก่า ถือธงตราสัญลักษณ์อุเทนถวาย พร้อมป้ายข้อความต่างๆ อาทิ โรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดินของเรา ๒๑ ไร่ เป็นที่ดินเพื่อการศึกษา (ไม่ใช่) เพื่อ การพาณิชย์ เป็นต้น พร้อมกับมีรถขยายเสียงบอกเล่า ประวัติความเป็นมาของอุเทนถวาย ยืนยันว่า อุเทนถวาย ไม่ได้มีปัญหากับจุฬาฯ แต่มีปัญหากับสำนักงานจัดการ ทรัพย์สินและผู้บริหารของจุฬาฯเท่านั้น ระหว่างกลุ่มนักศึกษาอุเทนถวายกำลังเคลื่อนขบวนมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่ง มาคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายจากกลุ่มนักศึกษาของโรงเรียนคู่อริ ขณะที่ในเวลา ๑๐.๐๐ น. กลุ่มนักศึกษาอุเทนถวาย สมาคมศิษย์เก่าและคณะอาจารย์อุเทนถวาย จำนวน ๑๒๐ คน นำโดยนายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา เดินทางไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รัฐมนตรีว่าการคลัง ขอคัดค้านการย้าย “อุเทนถวาย” ขอให้ธำรงตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ และขอให้ยกเลิกคำสั่งระงับ คำสั่งหรือไม่ออกคำสั่ง โยกย้ายนักศึกษาอุเทนถวายไปเรียนที่แห่งอื่นด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถึงกรณีศิษย์เก่าและนักศึกษาอุเทนถวายออกมาเรียกร้องไม่เห็นด้วย กับการย้ายที่ตั้งสถาบันไปยังพื้นที่อื่นว่า ต้องรับฟัง มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว เรื่องนี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษาฯ จะเป็นผู้แถลงรายละเอียด ขอย้ำว่าต้องรับฟังทุกความคิดเห็น เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แนวปฏิบัติต้องเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่ายืนยันว่า ทุกอย่างต้องเป็นไป ตามกฎหมาย แต่ว่าการที่ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญ ในส่วนกลุ่มนักศึกษาและบรรดาศิษย์เก่ากว่า ๒,๕๐๐ คน ที่เดินทางมายังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เมื่อขบวนมาถึงทางเข้าตึกอำนวยการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่า มีการปิดประตูรั้วทางเข้าและนำแผงเหล็กมากั้นอีกชั้น ตัวแทนนักศึกษาอุเทนถวายนำโดย น.ส.อชิรญา ชุวะนุติ ผู้แทนกรรมการสโมสรนักศึกษาวิทยาเขตอุเทนถวาย พร้อมด้วยตัวแทน นักศึกษาระดับปริญญาโท ได้ตั้งโต๊ะแถลงการณ์พร้อม ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงคัดค้านการย้ายอุเทนถวายและข้อเรียกร้องเพื่อเป็นแนวทางยุติข้อพิพาทแก่นายภคทัชช พัศภัคชญช์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ที่มาเป็นผู้รับเรื่องน.ส.อชิรญากล่าวว่า คณะนักศึกษาปัจจุบันไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับการย้ายวิทยาเขตอุเทนถวาย เพราะปัญหาความขัดแย้ง ระหว่าง นศ.อุเทนถวายกับ นศ.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นการแก้ไขปัญหา อย่างไม่เป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล เนื่องจากทุกครั้ง ที่มีปัญหาเกิดขึ้น มุ่งย้ายวิทยาเขตอุเทนถวายออกจากพื้นที่ที่ยังเป็นข้อพิพาทระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาฯ ทั้งที่การย้ายสถานศึกษาเป็นคนละเรื่องกับปัญหาที่มีบุคคลภายนอกก่อเหตุร้ายต่อนักศึกษาทั้งสองสถาบัน ประกอบกับการใช้ที่ดินพิพาทอยู่บนพื้นที่เดียวกับจุฬาฯ ต้องเป็นไปตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ให้ใช้เฉพาะกิจการการศึกษา การเปลี่ยนแปลงนำที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ทรงอุทิศย่อมมิอาจกระทำได้ จึงขอคัดค้านการย้าย อุเทนถวายและขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยอธิการบดี คณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ หยุดปรับเปลี่ยนการพัฒนาพื้นที่ มิควรอ้างแค่เพียงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มาแสวงหาผลประโยชน์กำไร เช่นอดีตที่ผ่านมา ด้วยการขับโรงเรียนที่อยู่คู่กับชุมชน สามย่านและปทุมวันมาทำพื้นที่เชิงพาณิชย์น.ส.อชิรญากล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ประชาคมอุเทนถวายได้เคยถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เพื่อให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในประเด็นนี้ และเพื่อเป็นการบรรเทาพระราชภาระของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวอุเทนถวายขอให้สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ยุติปัญหาด้วยการนำที่ดินพิพาทแปลงนี้ จดทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันเป็นที่ตั้งสถานศึกษาและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายกำหนด โดยมิอาจเปลี่ยนแปลง ยุบ ย้าย ได้อีกต่อไปด้านนายภคทัชชกล่าวว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ รับทราบข้อมูลและเจตนารมณ์ของอุเทนถวาย ยินดีนำหนังสือที่ยื่นเสนอให้ผู้บริหารจุฬาฯ ได้พิจารณาต่อไป จากนั้นตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายเดินทางไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนโยธี ขอเข้าพบนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษาฯ พร้อมปักหลักปราศรัยคัดค้านการย้ายอุเทนถวายอย่างดุเดือด ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้ามาบริเวณถนนด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ชูป้ายข้อความคัดค้านและ โห่ร้อง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น. ๑ มาตรึงกำลังพร้อมวางแผงเหล็กกั้น ขณะที่ น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษาฯ และ ศ.ด็อกเตอร์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ มาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม น.ส. สุชาดา ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมยื่นหนังสือกับตนแทนยื่นกับรัฐมนตรี เนื่องจาก น.ส.ศุภมาสติดภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมพร้อมโห่ร้องกดดัน ระบุว่าถ้า น.ส.ศุภมาสไม่มารับหนังสือด้วยตัวเอง กลุ่มผู้ชุมนุมจะปักหลักค้างคืนจนกว่าจะได้ยื่นข้อเรียกร้องกับ น.ส.ศุภมาสกระทั่งเวลาประมาณ ๑๓.๔๕ น. กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้กรูกันกระโดดข้ามแผงกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่พากันตั้งแถวปิดประตูทางเข้า กระทรวง จนเวลา ๑๔.๑๕ น. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษาฯ เดินทางมาถึงกระทรวงและให้ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายื่นข้อเรียกร้อง รวม ๖ข้อ น.ส.ศุภมาสเผยว่า ตั้งใจมารับข้อเรียกร้องด้วยตัวเอง ไม่ได้ปิดกระทรวงหนี จากข้อเรียกร้องทั้งหมดจะรับประเด็นไว้เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ใช้ เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาโดยเร็วที่สุด บางเรื่องอยู่ระหว่างการพูดคุยหารือหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อ การเรียนการสอน ในส่วนของการเปิดรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๗ ของ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ยังเปิดรับตามปกติ แต่ให้มีการ บริหารจัดการการเรียนการสอนเพื่อให้สอดรับกับแผนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ได้กำหนดไว้ เวลา ๑๕.๓๐ น. ที่รัฐสภา กลุ่มนักศึกษาอุเทนถวาย สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย และคณะอาจารย์อุเทนถวาย เดินทางจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯมาที่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตประธานสภาฯ เรียกร้องให้สภาฯวินิจฉัยทบทวน พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๑ มีตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลบางโพ ๑๗๐ นายและตำรวจรัฐสภาอีก ๒๐๐ นาย คอยดูแลรักษาความปลอดภัยและตั้งจุดตรวจค้นอาวุธอย่างละเอียดต่อมานายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสร นักศึกษาอุเทนถวาย และนายสมชัย ไตรพิทยากุล นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย เป็นตัวแทนยื่นหนังสือ ที่บริเวณศาลาแก้ว มีนายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับ บัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับยื่นหนังสือ โดยนายทักษิตกล่าวว่า ขอเรียกร้อง ให้สภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัย ทบทวน พระราชบัญญัติจุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๑๓ ที่ระบุว่า “มหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่กระทำการต่างๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า” ซึ่งพวกตนมองว่า ก่อนหน้านี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้มีการระบุไว้เช่นนี้ แต่มีการแก้ไขปี ๒๕๕๑ ให้ยกที่ดินให้จุฬาฯ โดยให้ อำนาจเข้ามาบริหารจัดการหาผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ถือว่าขัดต่อพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๕ พระราชทานที่ดินให้ไว้เพื่อการศึกษา ให้ความรู้ประชาชนอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่