นับเป็นวิบากกรรมของชาวยูเครนอย่างแท้จริง หลังตกอยู่ในวังวนของเกมการเมืองและศึกแย่งชิงอิทธิพลระดับโลกระหว่างขั้วอำนาจตะวันตก-ตะวันออกโดยเป็นเวลากว่า ๒ ปีแล้ว ที่เสียงระเบิดและความสูญเสียยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์๒๕๖๕ และยังคงไม่มีท่าทีจะหยุดยั้ง เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมอยู่ในจุดที่ “ไม่สามารถตกลงกันได้”ฝ่ายยูเครนต้องการให้พรมแดนกลับไปอยู่ในช่วงปี ๒๕๓๔ ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย นั่นหมายถึงคาบสมุทรไครเมียที่ถูกรัสเซียผนวกไปในปี ๒๕๕๗ และ ๔ จังหวัดทางภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน ทั้งเคียร์ซอน ซาโปริชเชีย โดเนตสก์ และลูกานสก์ ที่รัสเซียทำประชามติในพื้นที่และรับรองให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว จะต้องกลับมาอยู่ในความดูแลของยูเครนทั้งหมดขณะที่รัสเซียประกาศพร้อมเจรจาทุกชั่วโมงยาม แต่ในเมื่อเงื่อนไขของยูเครนเป็นแบบนี้ก็ไม่สามารถคุยกันได้ อีกทั้งรัสเซียได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า รัฐบาลยูเครนชุดนี้ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน ออกกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการว่า การเจรจาใดๆ กับรัสเซียเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการเสียก่อนเป็นที่มาของการต่อสู้ชนิดวันต่อวัน ซึ่งรูปการณ์ค่อนข้างชัดเจนว่า กองทัพรัสเซียกำลังได้เปรียบอย่างมาก และกำลังส่งหน่วยรบปฏิบัติการรุกคืบอย่างช้าๆ หลังปลายปีที่แล้วประสบความสำเร็จในการ “ตั้งโซนสังหาร” ทำลายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ของยูเครนไปเป็นจำนวนมาก ระหว่างปฏิบัติการตีโต้ครั้งใหญ่ของยูเครน ซึ่งชัดเจนว่าเพื่อเอาใจบรรดา “สปอนเซอร์” แม้ว่าตัวเองจะไม่พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์พ่วงด้วยโอกาสทองจากการที่ผู้ให้การสนับสนุนรายใหญ่ “สหรัฐอเมริกา” กำลังตึงมือรับศึกหลายด้าน ทั้งการเมืองภายในคองเกรส และการเปิดแนวรบใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง จนส่งผลให้ไม่สามารถผ่านงบประมาณหล่อเลี้ยงยูเครน กลายเป็นกรณี “ท่อน้ำเลี้ยง” หยุดไหล กองทัพยูเครนต้องใช้ของที่มีอย่างตามมีตามเกิด หันไปพึ่งยุโรปก็ไม่ช่วยอะไร เนื่องจากมีอุตสาหกรรมความมั่นคงคนละชั้นกับสหรัฐฯ ไม่สามารถป้อนกระสุนให้เพียงพอต่อความ ต้องการในสนามรบ หรือจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ มาทดแทนกับอัตราความสูญเสียได้อย่างเพียงพอ และเป็นที่มาของการ “แสดงพลัง” โชว์ความเป็นเอกภาพ ยืนหยัดเคียงข้างยูเครนให้สัญญาร้อยแปดว่ายูเครนจงอย่ากังวล เรายังไม่หายไปไหน และรัสเซียจะต้องประสบความพ่ายแพ้ในท้ายที่สุด ส่งนักการเมืองระดับสูงไปเดินถ่ายรูปในกรุงเคียฟ เซ็นสัญญาความร่วมมือ “ระยะยาว” แม้จะรู้ดีว่ากองทัพยูเครนต้องการความช่วยเหลือ “ณ บัดนี้” เพื่อยับยั้งโมเมนตัมของกองทัพรัสเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นข่าวในแวดวงต่างประเทศกันยกใหญ่ หลังเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ออกวาทกรรมว่า “ไม่ตัดความเป็นไปได้ เรื่องการส่งทหารชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ลงสู่ สนามรบ” เสมือนกับว่าฝรั่งเศสพร้อมยกระดับความตึงเครียดกับรัสเซียโดยงานนี้นักวิเคราะห์ได้ถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย ข้างหนึ่งมองว่าฝรั่งเศสเริ่มเอาจริง เนื่องจากเริ่มรู้สึกแล้วว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อยุโรปโดยตรง อีกทั้งยังมีรายงานก่อนหน้านี้ว่าทหารรับจ้างที่ถูกอ้างว่าอยู่สังกัดฝรั่งเศสได้ถูกกองทัพรัสเซียยิงมิสไซล์สังหาร เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แต่อีกข้างหนึ่งกลับมองว่า เป็นเพียงการเล่นบทบาททางการเมือง เรียกคะแนนนิยมให้กับตัวเองและนานาชาติ (ตะวันตก) ว่าฝรั่งเศสไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องนี้ และไม่ได้ปล่อยให้ชาติอื่นๆในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี โปแลนด์รับหน้าจัดการสถานการณ์ยูเครนแต่เอาเข้าจริงแล้ว คำพูดของฝรั่งเศสอาจเป็นการจงใจเปิดเผยธาตุแท้ที่ถูกซ่อนอยู่ใต้หน้ากากอันสวยหรูหรือไม่ เพราะสิ่งที่ตามมาปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า ความเป็นเอกภาพอยู่ที่ใด เรื่องนี้ไม่มีใครเห็นด้วย รัฐบาลชาติตะวันตกรวมถึงนาโตเร่งออกแถลงการณ์ปฏิเสธกันยกใหญ่ว่า ไม่สนับสนุนเรื่องการเคลื่อนกำลังพลของตัวเองตีความได้ว่ารัฐบาลยูเครนก็ยังเป็น “หมาป่าเดียวดาย” กันต่อไป อาวุธไม่มา กระสุนไม่พอ สปอนเซอร์ยังไม่ผ่านงบประมาณ ยุโรปก็ไม่ได้เข้า นาโตก็ไม่ให้ร่วม อุตสาหกรรมความมั่นคงในประเทศก็ถูกถล่มต่อเนื่อง มีเพียงแค่ “แมนพาวเวอร์” ซึ่งหมายถึงประชาชนชาวยูเครนที่ถูกเกณฑ์หรือสมัครใจไปยับยั้งศัตรูผู้รุกรานตรงกันข้ามกับรัสเซียที่แสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วง “สงครามผู้รักชาติ” อุตสาหกรรมการทหารกำลังเดินเครื่องอย่างเต็มสูบ ความเละเทะวุ่นวายในช่วงต้นสงครามเมื่อปี ๒๕๖๕ ค่อยๆเลือนหายไป มีรายงานอย่างต่อเนื่องถึงการยิงปืนใหญ่ถล่มอย่างถี่ยิบ การทิ้งระเบิดปูพรมทางอากาศ การออกอาละวาดของฝูงโดรนล่าสังหารและโดรนฆ่าตัวตายทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงความช่วยเหลือจาก “มิตรประเทศ” ที่มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับรัสเซียเพิ่มมากขึ้น อย่างรายงานของสื่อตะวันตกที่อ้างว่า เกาหลีเหนือน่าจะจัดกระสุนปืนใหญ่ไปให้รัสเซียกว่า ๓ ล้านนัด หรือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีโดรนจากอิหร่านวันนี้ยูเครนสูญเสียเมืองป้อมปราการ “อับดีเยฟกา” ที่เคยเชื่อมั่นกันว่าจะไม่มีทางแตกพ่ายไปแล้ว วันข้างหน้าจะเป็นที่ใดอีกก็ยังไม่แน่ชัด แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ในเมื่อรัสเซียกำลังได้เปรียบ แล้วทำไมจะต้องเป็นฝ่ายเปิดการเจรจา และหากปล่อยให้นานวันเข้า การเจรจาต่อรองเงื่อนไขก็อาจกลายเป็นการเจรจาต่อรองแบบไร้เงื่อนไข!?วีรพจน์ อินทรพันธ์คลิกอ่านคอลัมน์ “๗ วันรอบโลก” เพิ่มเติม
การทำลายล้างยังไม่สิ้นสุด
Related posts