Friday, 18 October 2024

กมธ.อุตสาหกรรม ยื่นร่างแก้ พระราชบัญญัติโรงงาน ต่อสภาฯ เพิ่มโทษคุกทิ้งกากของเสียมั่ว

“อัครเดช” ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม ยื่นร่างแก้ไข พระราชบัญญัติโรงงาน ต่อสภาฯ เล็งเพิ่มโทษจำคุก ๕ ปี ผู้ประกอบการที่จงใจทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๗ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย กมธ.อุตสาหกรรม ยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ต่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๒ ที่รัฐสภา เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ควรแก้ไขให้มีความเหมาะสมนายอัครเดช กล่าวต่อไปว่า การยื่นร่างแก้ไข พระราชบัญญัติโรงงาน ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากพ.ร.บ.โรงงาน ฉบับปี ๒๕๖๒ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถควบคุมผู้ประกอบการที่สร้างปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะการจัดการกากของเสียโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกสุขอนามัย อีกทั้ง กมธ.อุตสาหกรรม ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบการโดยละเมิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชน เมื่อมาดูสาเหตุหลักพบว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือกฎหมายโรงงานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กมธ. จึงเห็นว่าควรเสนอร่างแก้ไข พระราชบัญญัติโรงงาน เพื่อให้มีสภาพการบังคับใช้ในกฎหมายมีประสิทธิภาพ เหตุผลในการเสนอแก้ไข พระราชบัญญัติโรงงาน๑. เพื่อให้โรงงานเข้ามาอยู่ในกฎหมายที่มีการเพิ่มโทษอาญา พระราชบัญญัติโรงงานเดิม ใครกำจัดกากของเสียอย่างไม่ถูกกฎหมาย มีแค่โทษปรับเป็นโทษทางแพ่งเท่านั้น จึงเป็นอุปสรรคกับเจ้าหน้าที่ แต่การเพิ่มโทษอาญาจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเกรงกลัวมากยิ่งขึ้น เพราะมีโทษจำคุกและปรับที่หนักกว่าเดิม คือ จำคุก ๕ ปี สำหรับผู้ประกอบการที่จงใจ ละเมิด ทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน๒. กฎหมายใหม่ที่เสนอแก้ไข ให้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรมในการออกกฎกระทรวง ให้การบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมมากขึ้น เดิมจะต้องมีแรงม้า ๕๐ แรงม้า หรือคน ๕๐ คนขึ้นไป ถึงจะเข้าเกณฑ์ให้กรมโรงงานตรวจสอบได้ แต่กฎหมายที่ กมธ. ร่างขึ้นมาใหม่ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการออกกฎกระทรวง เช่น โรงงานพลุแม้เครื่องจักรจะมีแรงม้าต่ำกว่า ๕๐ แรงม้า ก็ให้รัฐมนตรีสามารถพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมได้ว่า มีโรงงานไหนให้รัฐมนตรีเข้ามาควบคุมภายใต้ พระราชบัญญัติโรงงาน ฉบับใหม่บ้าง๓. มีการเพิ่มอำนาจทางปกครองให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจทางการปกครองมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจสั่งปิดโรงงานหรือสั่งปรับปรุงแก้ไข ในกรณีโรงงานใดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างร้ายแรง  นายอัครเดช ยังระบุด้วยว่า การเสนอแก้ พระราชบัญญัติโรงงาน เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทางด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ที่ถูกละเมิดจากผู้ประกอบการที่จงใจละเมิดกฎหมาย สำหรับขั้นตอนในการพิจารณากฎหมาย อยู่ที่สภาฯ จะพิจารณาทางด้าน นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ต้องขอบคุณ กมธ.อุตสาหกรรม ที่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ประเทศเราส่งเสริมอุตสาหกรรมกฎหมายที่เพื่อความเจริญของประเทศ แต่ก็มีปัญหาตามมา จึงต้องดูเรื่องกฎหมายอุตสาหกรรมให้เข้มข้นขึ้น และถ้าจำเป็นต้องมีกฎหมายอีกหลายฉบับ ต้องเพิ่มเพื่อความปลอดภัยในเรื่องอุตสาหกรรมของประเทศไทย และขอบคุณที่ กมธ. ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เสนอแก้ไข พระราชบัญญัติโรงงาน เข้ามา โดยตนจะรีบบรรจุในระเบียบวาระเพื่อนำมาพิจารณาในสภาฯ อย่างเร็วที่สุด.