หนุนเดินหน้า แก้กฎหมาย ลาคลอด ๑๘๐ วัน หลังแรงงาน ๖๙.๔% ไร้แผนมีลูก เหตุกลัวไม่มีเงิน ขาดคนช่วยเลี้ยง สวนทางนโยบายเพิ่มประชากร ส่วนคนเคยคลอดใช้สิทธิลาไม่ครบ ต้องรีบกลับทำงาน หวังเงินเดือน-โอที ยาไส้ วันที่ ๗ มี.ค. ๒๕๖๗ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเนื่องใน วันสตรีสากล หัวข้อ “ขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร?” พร้อมทั้งมีการเสนอผลสำรวจ “การขยายวันลาคลอด ๑๘๐ วัน และสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด : คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม กทม.และจังหวัดโดยรอบ” จากนั้นได้แสดงละครสะท้อนชีวิตแรงงานกับการลาคลอดด้วย นางสาวธัญมน สว่างวงศ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจความเห็นคนงานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบ ๑,๔๓๗ คน ต่อการขยายวันลาและสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด พบว่า ๖๙.๔% ยังไม่มีแผนมีลูกใน ๕ ปี ข้างหน้า โดยให้เหตุผลว่าเพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กลัวเงินไม่พอค่าคลอด ค่าเลี้ยงลูก ๓๙.๑% กลัวไม่มีเวลา ขาดคนช่วยเลี้ยง ๒๔.๙% และเมื่อถามถึงการใช้สิทธิลาคลอดตามกฎหมายพบว่า แรงงาน ๗๘.๒% ใช้สิทธิลาคลอด ๙๐-๙๘ วัน ๑๔.๕% ลาเพียง ๓๐-๕๙ วัน ทั้งนี้เหตุผลที่ลาคลอดไม่ครบวันตามที่กฎหมายกำหนด แล้วต้องรีบกลับมาทำงานเพราะต้องการมีรายได้/ต้องการโอทีเพิ่ม ตามด้วยกลัวถูกลดโบนัส ทั้งนี้เมื่อดูในส่วนสวัสดิการของรัฐพบว่า แรงงานหญิง ๕๙.๔% ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ๖๐๐ บาท แต่กว่า ๙๖.๖% ได้รับเงินจากเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม ๘๐๐ บาทขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพหญิงหลังคลอด พบร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ๔๗.๙% สุขภาพอ่อนแอ เจ็บแผลคลอด ๒๙.๕% เครียด ซึมเศร้าหลังคลอด ๑๔.๑% ส่วนการให้นมลูก พบว่าสถานที่ทำงานหรือสภาพการทำงานไม่เอื้ออำนวย เช่น ไม่มีห้องปั๊มนม ไม่มีตู้แช่เก็บนม ต้องทำงานไม่มีเวลาปั๊มนม ๕๐.๓% ส่งผลให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วง ๖ เดือนแรกมีเพียง ๑๑.๕% ส่วนใหญ่จะดื่มนมแม่กับนมผง ๖๔.๑% สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ผลสำรวจพบว่า มีปากเสียงกันบ่อยขึ้น ๑๕% สามี/แฟนไม่ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๗.๗% สามี/แฟนนอกใจ ๓.๔% ส่วนช่วงหลังคลอดพบว่า สามี แฟนมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกบางครั้ง ๔๐.๖% ไม่ช่วยเลย ๑๖.๓% และช่วยนานๆ ครั้ง ๑๔.๕% เมื่อถามถึงสวัสดิการภาครัฐพบสูงถึง ๙๙.๓% ที่เห็นว่า ควรเพิ่มสวัสดิการค่าคลอดบุตรจาก ๑๕,๐๐๐ บาทเป็น ๓๐,๐๐๐ บาท ที่สำคัญแรงงานกว่า ๙๖.๕% เห็นด้วยกับการขยายสิทธิวันลาคลอดเพิ่มจากเดิม ๙๘ วัน เป็น ๑๘๐ วัน และอีกกว่า ๙๓.๗% เห็นด้วยกับการให้สิทธิพ่อลาได้ ๓๐ วันเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูก“การดูแลบุตรหลังคลอดตกเป็นภาระของผู้หญิง พอครบกำหนดใช้สิทธิลาคลอดตามกฎหมายต้องส่งลูกไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างหวัด หรือจ้างเลี้ยงดูซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและส่งผลให้ความสัมพันธ์ของแม่และลูกห่างเหิน ดังนั้นการสนับสนุนการขยายสิทธิลาคลอด ๑๘๐ วัน และสวัสดิการที่เอื้ออำนวยให้แรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น นโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายของแรงงาน” นางสาวติมาพร เจริญสุข เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า ปัจจุบันเราสามารถลาคลอดได้ ๙๘ วัน เริ่มนับตั้งแต่วันลาเพื่อรอคลอด โดย ๔๕ วัน จะได้เงินเดือนเต็มจากนายจ้าง ส่วนอีก ๔๕ วันได้เงินครึ่งหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม ส่วนอีก ๘ วันนั้นไม่ได้รับอะไรเลย ตอนแรกตนยังคิดว่าได้รับค่าจ้าง แต่กลับไม่ได้ ไม่มีใครจ่ายค่าจ้าง แถมยังถูกตัดสิทธิหลายอย่าง เช่น ตัดเกรดไม่ได้ปรับขึ้นเงินเดือน ประเมินการขึ้นตำแหน่ง ตัดโบนัส เป็นต้น นอกจากนี้ ระหว่างที่ตั้งครรภ์ ต้องพบแพทย์สม่ำเสมอนั้นไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย ต้องใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อไปพบแพทย์ ทั้งนี้แต่ละสถานประกอบการไม่เหมือนกัน ดังนั้นตนมองว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เด็กตั้งแต่คลอด ต้องให้นมแม่จนถึงอย่างน้อย ๖ เดือน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานและสร้างสายใยรักแม่ลูกเป็นสิ่งจำเป็น จึงอยากให้เห็นความสำคัญตรงนี้โดยมีการจ่ายเงินเดือน หรือค่าตอบแทนเต็มจำนวนทั้ง ๙๐ วัน โดยเฉพาะในส่วนของประกันสังคมที่จ่ายเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น รวมถึงอีก ๘ วันที่ให้สิทธิเพิ่มมาด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อวานถือว่ามีข่าวดีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งให้ขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มเป็น ๑๘๐ สอดคล้องกับผลสำรวจในวันนี้ และพวกเราก็ต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปด้าน รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิทธิลาคลอดที่เพิ่งได้รับนั้นถือเป็นการขยับได้ช้ามาก ไม่สอดรับกับสภาพความเปราะบาง และสภาพการทำงานของครอบครัวสมัยใหม่ ในขณะที่งานวิจัยในประเทศต่างๆ รวมถึงข้อเสนอจากภาคประชาชน และพรรคการเมืองนั้นไปไกลถึง ๑๘๐ วันแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อวานสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสองฉบับ คือร่างฉบับกระทรวงแรงงาน หรือของพรรคภูมิใจไทย เสนอสิทธิลาคลอดที่ ๙๘ วัน ส่วนฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอให้สิทธิลาคลอด ๑๘๐ วัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก แต่เราจำเป็นต้องพูดถึงการลาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้แม่สามารถวางแผนการทำงาน การใช้ชีวิตได้ รวมถึงการให้สิทธิคู่สมรสในการลาด้วย ทั้งนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เป็นโมเดลของการรักษาสิทธิของแม่ ของครอบครัวจะเห็นว่า ๑๘๐ วันนั้นถือเป็นตัวเลขกลางๆ ค่อนไปทางต่ำด้วยซ้ำ เช่น กลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการนั้นได้สิทธิลาคลอดได้ถึง ๔๘๐ วัน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หากใช้วันลาไม่หมดยังสามารถเก็บไว้ใช้ได้จนลูกอายุ ๙ ขวบ “ตัวเลขที่เราดูมา ตอนนี้คนเกิดน้อยมาก ใน ๑ แผนกในโรงงาน มี ๕๐ คน อาจจะมีคนท้องสัก ๑-๒ คน ยิ่งในออฟฟิศก็ยิ่งน้อย แล้วตัวเลขที่มีการใช้สิทธิลาคลอดของผู้ประกันตนก็มีเพียง ๒% เท่านั้น เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งไม่ได้ทำให้นายจ้างล้มละลายหรือเสียผลประโยชน์ ที่เสียประโยชน์ถือว่าน้อยมาก อย่างที่จ่ายอยู่ ๔๕ วัน ก็เป็นฐานเงินเดือนที่น้อยมาก ดังนั้นข้อเสนอให้ปรับเพิ่มสิทธิการลาคลอด ๑๘๐ วันนั้นสามารถทำได้เลย เพื่อให้เด็กเติบโตดี มีโภชนาการที่ดี มีการศึกษาที่ดี เพื่อเขาจะได้ทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ดีต่อไปในอนาคต ยิ่งคนเกิดน้อย เรายิ่งต้องดูแลเขาให้ดี” รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ษัษฐรัมย์ กล่าว
หนุน ลาคลอด ๑๘๐ วัน หลังพบแรงงาน ๖๙.๔% ไร้แผนมีลูก เหตุกลัวไม่มีเงิน
Related posts