ศ.ด็อกเตอร์สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สิ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ใช่เพียงแค่การจัดการศึกษาภาคบังคับระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เท่านั้น แต่ต้องเป็นการศึกษาที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ขึ้นไป ซึ่งเป็นตัวชี้ชัดว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนหลุดพ้นความยากจน หากเด็กเหล่านี้จบในสาขาที่ขาดแคลนจะมีเงินเดือนสูงกว่าพ่อแม่ถึง ๔ เท่า ทั้งยังเป็นแรงขับชีวิตตนเองในทางที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบสำคัญคือ ทัศนคติของครอบครัวมีส่วนสำคัญมาก เพราะคิดว่ายากจน อย่าเรียน ให้ออกมาทำงานดีกว่า ซึ่งส่งผลลบต่อการศึกษาต่อของเด็กและเยาวชน ดังนั้น รัฐเข้าช่วยเหลือส่งเสริมเรื่องทุนการศึกษา การให้ข้อมูลแหล่งทุนต่างๆ การส่งเสริมการมีงานทำระหว่างเรียน และครูคอยประคับประคอง จะทำให้เด็กรอดจากการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ ๑๐๐%ศ.ด็อกเตอร์สมพงษ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้น คือช่วงรอยต่อการศึกษาต่อ ป.๖ ขึ้น ม.๑ ระดับ ม.๓ ขึ้น ม.๔ และระดับ ปวช.หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก มีตัวเลขเด็กอายุ ๓-๑๘ ปีที่หลุดจากระบบการศึกษาสะสม ถึง ๑.๐๒ ล้านคน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังพัฒนาหามาตรการไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาด้วยแนวทาง ๑ โรงเรียน ๓ ระบบคือ จัดได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เด็กสามารถเลือกเรียนได้ตามความเหมาะสม โดยดำเนินการที่ จ.ราชบุรี เป็น ร.ร.ต้นแบบ ตนคิดว่าแนวทาง ๑ โรงเรียน ๓ ระบบเป็นคำตอบสำคัญที่จะช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะจำเป็นที่ต้องเรียนด้วยทำงานด้วย.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
Related posts