ภัยแล้งมาเร็วกว่าที่คิด! ถึงวันนี้ แค่เริ่มต้นเดือน มีนาคมหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็เริ่มประสบปัญหาแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำแล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาและทำให้ประเทศไทยร้อน-แล้งเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หน่วยงานด้านภูมิอากาศ อย่างกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า…ประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรง ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ในขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรยังคงสูงกว่าค่าปกติประมาณ ๑-๒ องศาเซลเซียสนั่นหมายถึงจะทั้งร้อนและทั้งแล้งยาวไปจนถึงเดือน มิถุนายน๒๕๖๗ ส่วน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือ GISTDA ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่า พื้นที่เฝ้าระวังภัยแล้งสูงมากมีถึง ๕๔ จังหวัด ๒๗๔ อำเภอ ๖๓๓ ตำบล โดยมี โดยพบ ๕ จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษและสุรินทร์ภัยแล้งจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีก เลี่ยงได้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยแล้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะภัยแล้ง ส่งผลกระทบรุนแรงในทุกมิติ ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ “ปีนี้ภัยแล้งมาเร็ว เนื่องจากประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ ต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๕๖๗ แต่ปี ๒๕๖๗ รุนแรงกว่า ขณะนี้ภัยแล้งกำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้งขึ้น โดยให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหลักในการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน บรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและให้มีการเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ให้สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต้นน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะที่มีศักยภาพ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำและจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดจ่ายน้ำบาดาลต้องพร้อมใช้งาน จุดไหนมีปัญหาให้เร่งซ่อมแซม” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการทส. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังลุกลามรวมถึง ทส.ได้เปิดช่องทางในการรับแจ้งภาวะภัยแล้ง-น้ำแล้งผ่านสายด่วน Green Call ๑๓๑๐ กด ๔ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ๑๓๑๐ กด ๕ กรมทรัพยากรน้ำ ขณะเดียวกัน มีการจัดเตรียมจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ๖๐๗ แห่ง พร้อมมาตรการเชิงรุกใน ๕ โครงการหลัก ได้แก่ โครงการซ่อมบำรุงรักษาและฟื้นฟูระบบประปาบาดาลเดิม ๑,๗๑๔ แห่ง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำบาดาลด้วยการเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม ในโครงการระบบประปาบาดาลเดิมที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ในพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาล ๒๑๐ แห่ง โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับประชาชนทั้งน้ำอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ โครงการพระราชดำริ ๑๒ แห่ง โครงการน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ๒๔๓ แห่ง โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ๓๓๖ แห่ง โดยทั้งหมดจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ๓๖.๓๗ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ ๗๓,๓๘๘ ครัวเรือน ประชาชน ๒๙๓,๕๕๒ ราย และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ ๒๐,๑๖๐ ไร่ ส่วนกรมทรัพยากรน้ำ ได้ให้การช่วยเหลือประชาชนที่เริ่มประสบภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยมีทั้งการนำน้ำสะอาดไปให้ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ที่ ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำลี้เข้าคลองส่งน้ำ เพื่อกระจายไปยังพื้นที่เกษตรไม้ผล พืชเศรษฐกิจขาดแคลนน้ำ ได้แก่ ลำไย มะม่วง กว่า ๕๐๐ ไร่ พริก หอม กระเทียม ข้าวโพด มันฝรั่ง ถั่วเหลือง กว่า ๗๐๐ ไร่ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ที่ ต.ประณีต อ.เขาสมิง จ.ตราด เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เกือบ ๕,๐๐๐ ไร่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น สูบน้ำกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ พร้อมกับทยอยนำน้ำสะอาดบริการประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคในอีกหลายจังหวัด อาทิ นครราชสีมา นครสวรรค์ เป็นต้น “ที่สำคัญยังร่วมกับ ๕ ภาคีเครือข่ายในโครงการราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง ประจำปี ๒๕๖๗ ประกอบด้วย กองทัพบก ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจำกัด (มหาชน) บูรณาการความร่วมมือพร้อมผนึกกำลังบุคลากร แหล่งน้ำสะอาด รถบรรทุกน้ำ ถังบรรจุน้ำ พลังงานไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยในส่วนของ ทส.จะสนับสนุนจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชน จำนวน ๑๖๗ แห่ง ในพื้นที่ ๕๑ จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้านแหล่งน้ำสะอาด ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชน สามารถนำภาชนะไปรองรับน้ำอุปโภคบริโภคกลับไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในครัวเรือนได้ตลอดระยะเวลาเดือน มี.ค.– กันยายนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวถือเป็นการระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างเต็มที่“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การรับมือภัยแล้งในครั้งนี้ น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเฉพาะหน้าได้ รวมถึงเป็นการจัดเตรียมและช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ในระดับหนึ่งแต่สิ่งที่เราอยากฝากคือการแก้ปัญหาภัยแล้ง ควรต้องมีการมองถึงการแก้อย่างยั่งยืน เพราะภัยแล้งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมายาวนานเพราะการมีแผนที่ชัดเจนต่อเนื่องจะนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤติภัยแล้งอย่างแท้จริง.ทีมข่าวสิ่งแวดล้อมอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
"เอลนีโญ" พ่นพิษไทยเผชิญวิกฤติภัยแล้งเร็วกว่าที่คิด ทส.ระดมพลังแก้ปัญหายั่งยืน
Related posts