ในระยะนี้เป็นห้วงแห่ง “ความร้อน” ทั้งภายนอกและภายใน “ร้อนภายนอก”…คืออุณหภูมิได้สูงขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้ผู้คนในสังคมได้รับความเดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้า ส่วนความ “ร้อนภายใน” คือความทุกข์ที่ได้รับกัน ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ประจำ ทุกข์ที่เคลื่อนเข้ามานับรวมไปถึง “ทุกข์ถาวร” ที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย“ความร้อนที่ได้สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นกับมนุษย์นี้มิใช่มีแต่ทางตันเสมอไป เพราะธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างมีมืดก็ย่อมมีสว่าง มีร้อนก็ย่อมมีเย็น มีกลางคืนก็ย่อมมีกลางวัน มีพระจันทร์ก็ย่อมมีพระอาทิตย์ ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามถ้าอยากจะอยู่ได้และอยู่รอดก็จะต้องรู้จัก…ปรับตัว”พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า เปรียบเสมือนสัตว์หลายๆชนิดที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบกายจนสามารถอยู่รอดและอยู่ได้อีกนาน รู้จักผ่อนปรนหรืออ่อนโน้มไปกับสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองอย่างเช่น…ต้นไม้ไผ่ที่สูงเสียดฟ้าเมื่อมีลมหรือพายุพัดแรงมาก็โน้มลำต้นไปกับกระแสลม ในที่สุดก็อยู่ได้และอยู่รอด มนุษย์เราก็เช่นเดียวกันการรู้จัก “ปรับตัว” จึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดอาการของการร้อนกายมิใช่เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว หากแต่อาการที่ไม่ปกติของร่างกายเช่น…ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้กลายเป็นบาดแผลจนบาดเจ็บ ร่างกายได้รับผลกระทบจากสิ่งอื่นจนมีอาการเจ็บช้ำ เป็นต้น เมื่อความไม่ปกติของร่างกายเกิดขึ้นแล้ว เช่นนี้ย่อมทำให้อาการบาดเจ็บเกิด…อาการของการร้อนกายขึ้นมาทันที จำเป็นต้องได้รับการเยียวยารักษาทั้งในเบื้องต้นและในระยะยาวจนกว่าทุกอย่างจะกลับคืนมาเป็นปกติ ความทุกข์ความเดือดร้อนจึงจะหายไป แต่ถ้าเป็นความร้อนที่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจนี้จำเป็นต้องหาทางออกและทางแก้ให้ถูกทาง “เราจะปล่อยให้ความร้อนกลายเป็นไฟสุมทรวงต่อไปไม่ได้เพราะมีแต่จะสร้างความทุกข์ทรมานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ความร้อนภายในนับตั้งแต่มนุษย์เรามีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง โลภมากก็ร้อนมาก โลภน้อยก็ร้อนน้อย โกรธมากก็ร้อนมาก โกรธน้อยก็ร้อนน้อย หลงมากก็ร้อนมาก หลงน้อยก็ร้อนน้อย”สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์เราก่อน ต่อไปก็จะกลายมาเป็น “คำสั่ง” ให้มนุษย์เราพูดตามหรือกระทำตาม ทางภาษาพระจึงเรียกว่า “การกระทำ” เพราะได้แสดงออกมาแล้วอย่างชัดเจน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับทางกายทางวาจาและทางใจ ทางพระจึงเรียกว่า เกิดขึ้นเพราะ “กิเลส”กิเลส….คือเครื่องที่ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองนั่นเองสำหรับทางออกหรือทางแก้อันเกิดขึ้นจากความร้อนภายในจิตใจก็คือ จะต้องรู้จักลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นต้นเหตุของความเศร้าหมองเหล่านั้นให้ได้ อย่าไปยึดติดว่าตัวฉันของฉัน จะต้องรู้จักปล่อยวาง รู้จักเสียสละรู้จักสละสิ่งเหล่านั้นออกจากตัวของเรา มนุษย์เราในชีวิตนี้ก็มีเกิด แก่ เจ็บและตายเท่านั้นส่วนสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้ใดหรือเวลาใดก็แล้วแต่ เหตุและปัจจัยเป็นองค์ประกอบ แต่ทุกชีวิตไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในเบื้องต้น แล้วแปรปรวนไปในท่ามกลางดับสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเหลือไว้เลยนอกจาก “ความดีหรือความชั่ว” ที่ฝากไว้ในโลกาถ้าเป็นความดีก็ย่อมมีคนอื่นเลียนแบบหรือเจริญรอยตาม ส่วนที่เป็นความชั่วก็เป็นสัญลักษณ์ของบุคคลนั้นไป ย่อมไม่มีใครเลียนแบบหรือเจริญรอยตามการแก้ไขความร้อนภายในนี้ จะต้องแก้ไขโดยเริ่มที่ “ตัวเรา” ก่อน…ลดให้เป็นมันก็จะเย็นให้ได้ ละให้เป็นมันก็จะเย็นให้ได้ เลิกให้เป็นมันก็จะเย็นตลอดไป …ความโลภ ความโกรธ และความหลงซึ่งเป็น “กิเลส” ตัวสำคัญที่ทำให้คนเรามีความทุกข์ มีความเศร้าหมอง เป็นเหตุให้เราเดือดร้อนภายในถ้าเราแก้ไขที่ต้นเหตุด้วยการไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงได้แล้ว ความทุกข์ความเดือดร้อนภายในก็จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรากับครอบครัวของเราและกับสังคมของเรา ในที่สุดเราก็จะอยู่ เย็น เป็น สุข อย่างแท้จริงถึงตรงนี้…ทางออกหรือทางแก้อันเกิดขึ้นจาก “ความร้อนภายนอก” ก็คือ จะต้องรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับความเป็นจริงให้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดมาล้วนรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริง…ไม่ขัดขวางกับความเป็นจริงของธรรมชาติ พระครูจินดาสุตานุวัตร ย้ำว่า ความอดทนเป็น “หัวใจ” อันสำคัญยิ่ง คนที่อดทนย่อมชนะสิ่งทั้งปวง คนที่อ่อนแอก็ย่อมกลายเป็น “ผู้สูญพันธุ์” ไปในที่สุด…อดทนต่อความร้อน ความหิว ความกระหาย ความเจ็บปวด อดทนต่อความเหนื่อยยากของการดำเนินชีวิตประจำวัน อดทนต่อชีวิตประจำวันที่ไม่เป็นไปตามหวัง…อดทนต่อสิ่งเร้าที่จะทำให้จิตใจของเราตกต่ำ อดทนต่อคำเยาะเย้ยเสียดสีต่างๆนานา อดทนต่อการเข้าใจผิดของคนอื่น กระนั้นแล้วการอดทนมิใช่การเป็น “คนหน้าด้าน”“คนที่มีความเข้มแข็ง อดทน ต่อสู้กับความร้อน…ให้ผ่านไปได้ก็ย่อมจะเป็นผู้ชนะ ตรงกันข้ามถ้าผู้ใดขาดความอดทน ขาดความเข้มแข็งในชีวิต แสดงตนให้เป็นผู้อ่อนแอสุดท้ายจะกลายเป็นผู้แพ้ไปในที่สุด”…หมายถึงกับล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย“ความเข้มแข็งภายนอกนั้นคือ ร่างกายของเราจะต้องแข็งแรงพร้อมที่จะเผชิญกับภัยต่างๆให้ผ่านพ้นไปได้ ความเข้มแข็งภายในก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่อ่อนไหวกับเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จะต้องระลึกอยู่เสมอว่าเมื่อมีภัยมาเราจะต้องต่อสู้ ไม่ต้องกลัวมัน”ถ้ายิ่งกลัวมันแล้วมันก็จะได้จังหวะหรือโอกาสโจมตีเราให้ย่อยยับลงไป เราจะไม่หวังพึ่งคนอื่นทุกครั้งเสมอไป เราจะต้องเป็นตัวตนของเราเอง เราจะต้องรู้จักสร้างเกราะกำบังชีวิตของเราด้วยตัวเราเอง สร้างขวัญและกำลังใจที่เข้มแข็งให้กับตัวเราเอง ให้ระลึกอยู่เสมอว่า…คนอื่นเป็นที่พึ่งเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแต่… “ตัวเรา” นี่เองจะเป็นที่พึ่งอย่างถาวรให้กับตัวเรา ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นความร้อนภายนอกหรือความร้อนภายใน มนุษย์เราก็สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตัวเราเอง มิใช่ด้วยเพราะโชคลาภหรือความบังเอิญความร้อนทางกายอยู่รอดได้เพราะรู้จักคำว่า “หลบ” อย่างเช่นชีวิตของสัตว์ดิรัจฉานชนิดหนึ่งคือกบ เมื่อนอกฤดูฝนมันก็จะรู้จักเอาตัวรอดไปได้ด้วยการ “เข้าจำศีล” ในรูเป็นเวลานานหลายเดือน เมื่อย่างเข้าฤดูฝนหรือมีน้ำมา มันจะออกจากรูมาใช้ชีวิตตามธรรมชาติที่เป็นจริงมนุษย์เราก็เช่นเดียวกัน เมื่อร้อนแรงมาก็รู้จัก “หลบ” ดังคำโบราณที่ว่า “รู้จักหลบเป็นปีก รู้จักหลีกเป็นหาง” ในที่สุดก็จะมีชีวิตที่อยู่ได้และอยู่รอด ด้วยการรู้จักปรับตนเองให้เข้ากับสถานการณ์จริง“….มีกิเลสมากหรือกิเลสหนาย่อมมีความทุกข์มาก มีความเดือดร้อนมาก มีกิเลสน้อยย่อมมีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ ขอให้มนุษย์เราจงลด ละ เลิก ให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลงในตนน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยก็ยิ่งจะดี เมื่อความทุกข์ไม่มีย่อมจะมีแต่ความสุขในชีวิตจิตใจ และเป็นความสุขที่ถาวรอีกด้วย”ความร้อนภายนอกเกิดจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ต้องมีความอดทนเป็นที่ตั้ง…อย่าร้อนไปตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ขอให้ระลึกว่า “อดทน…อดทน…อดทน” เท่านั้น จึงจะชนะภัยทั้งปวงได้.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม
Related posts