กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา หลังช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสภาผู้แทนราษฎรในสภาคองเกรสลงมติเห็นชอบ ๓๕๒ เสียงต่อคัดค้าน ๖๕ เสียง ในการผ่านร่างกฎหมาย “ปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยศัตรูต่างชาติ”พุ่งเป้าบังคับให้แอปพลิเคชันยอดฮิต “ติ๊กต่อก” ของบริษัทไบต์แดนซ์ ขายกิจการให้แก่บริษัทที่ไม่ได้เป็นศัตรูของอเมริกา ภายในกรอบเวลา ๖ เดือน มิฉะนั้นจะถูกระงับการบริการในสหรัฐฯแม้กระบวนการยังไม่ถึงที่สิ้นสุด จะต้องลงมติกันในวุฒิสภา ตามด้วยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จดปากกาลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่งานนี้ก็มีโอกาสผ่านฉลุย เนื่องจากพรรครัฐบาลเดโมแครตและพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันเห็นพ้องกันว่า จีนคือ “ภัยคุกคามทางความมั่นคง”แม้ทางไบต์แดนซ์จะให้ความชัดเจนว่า แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดนิยมมีสองเวอร์ชันคือ “โต่วอิน” สำหรับให้บริการในประเทศจีน กับ “ติ๊กต่อก” สำหรับให้บริการทั่วโลก (และถูกแบนในจีน) ซึ่งทั้งสองอันแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ในเมื่อมีต้นกำเนิดจากจีนแล้วก็เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลสหรัฐฯจะปล่อยวาง ดังคำกล่าวของ สส.แดน เครนชอว์ ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า “การโหวตคัดค้านร่างกฎหมายปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยศัตรูต่างชาติ หรือ FACA เปรียบเสมือนการโหวตสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน คนที่คัดค้านร่างกฎหมายฟาก้าคือคนที่พยายามปกป้องรัฐบาลจีน ยอมปล่อยให้รัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลและความคิดของอเมริกันชน ใครคิดต่างกับผมถือเป็นคนไม่รักชาติ เป็นอเมริกันที่เลวทราม”ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯกำลังแข่งขันทางอิทธิพลกับรัฐบาลจีนอย่างหนัก เพื่อรักษาไว้ซึ่งระเบียบโลกที่นำโดยชาติตะวันตก จีนเองก็พยายามสร้างโลกหลายขั้ว จับมือกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะชาติที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับตะวันตก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีใครใหญ่อยู่เพียงคนเดียวเหมือนในอดีต ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นในสถานการณ์ดูเหมือนจะเลวร้ายลงเหตุนี้จึงไม่แปลกว่าทำไมร่างกฎหมายฟาก้าจึงมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า “ศัตรูต่างชาติ” ของสหรัฐฯที่ว่านี้ประกอบด้วยเกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย และอิหร่าน ซึ่งดูแล้วก็ไม่ต่างกับช่วงสงครามเย็นที่มีการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างกันออกไปในห้วงเวลานี้คือ สังคมอเมริกันไม่ได้มีความเป็นเอกภาพเหมือนในอดีตยุคปลุกผีคอมมิวนิสต์ และกำลังเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้งที่มีการโจมตีทางการเมืองกันหนักหน่วง จนนำไปสู่คำถามว่า ร่างกฎหมายฟาก้าจะเป็นอีกหนึ่ง “เชื้อไฟ” ที่สร้างความแตกแยกในสังคมอเมริกันให้รุนแรงยิ่งขึ้นโดยกรณีนี้มีสองประเด็นที่น่าสนใจ เรื่องแรกคือ การเล่นงานแอปพลิเคชันติ๊กต่อก ได้ถูกนำไปปลุกกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่เจนซีในสหรัฐฯ ไม่ได้มองว่าเป็นการแข่งขันแย่งชิงอิทธิพลระดับโลก แต่ “เชื่อกันว่า” เป็นผลมาจากการที่แพลตฟอร์ม “ติ๊กต่อก” กำลังถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการรณรงค์เรียกร้องให้มีการปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์ เลยทำให้รัฐบาลอเมริกันที่ถูกครอบงำด้วย “ไซออนนิสต์” ต้องมาออกแอ็กชันทำอะไรสักอย่าง ชาวเน็ตเจนซีพากันปลุกปั่นทฤษฎีสมคบคิดกันสนุกมือ ต่อจิ๊กซอว์ “คอนเนคเดอะดอท” หาความเชื่อมโยงว่า สส.สหรัฐฯที่ช่วยกันชงร่างกฎหมายมีใครเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินอยู่เบื้องหลัง ใช่คนที่กำลังอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับปาเลสไตน์ใช่หรือไม่ จนมีแนวโน้มว่า ไม่ว่าสุดท้ายนี้ กฎหมายจะออกหัวหรือออกก้อย รัฐบาลสหรัฐฯก็ถูกตีตรา เชื่อกันไปแล้วว่ามีปลอกคอไซออนนิสต์สวมอยู่ ไม่ได้ต้องการทำเพื่อประชาชนชาวอเมริกันสำหรับเรื่องที่สองดูจะเลวร้ายกว่านั้น เพราะหากนำกฎหมายฟาก้ามาชำแหละรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ๑.แอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยศัตรูต่างชาติจะถูกห้ามให้บริการในสหรัฐอเมริกา แต่ขอบเขตการเล่นงานไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวแอปพลิเคชัน ยังเหมารวมไปถึงแอปสโตร์และผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเช่นกัน เท่ากับงานนี้รัฐบาลสหรัฐฯจะเป็นผู้สั่งเปิด-ปิดสวิตช์ได้แบบครบวงจร ๒.แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถแชร์คอนเทนต์ให้แก่ผู้อื่นได้และมีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า ๑ ล้านคนต่อเดือน สามารถถูก “ตีตรา” ได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ถูกควบคุมโดยศัตรูต่างชาติ หากตัว “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” มองว่าเห็นควรให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของบ้านเมือง๓.คำจำกัดความของ “แอปพลิเคชันที่ถูกควบคุมโดยศัตรูต่างชาติ” คือ ข้อ ๓.๑ มาจากบริษัทซึ่งมี “ถิ่นฐานอยู่ในประเทศศัตรู” “มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศศัตรู” หรือ “จัดตั้งเป็นองค์กรด้วยกฎหมายของประเทศศัตรู” (เกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย อิหร่าน) หรือข้อ ๓.๒ ถือหุ้น ๒๐% โดยกลุ่มใดๆที่มาจากชาติศัตรูดังกล่าวหรือข้อ ๓.๓ เป็นแอปพลิเคชันที่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำหรือควบคุมโดยบุคคลหรือหน่วยงานและองค์กรประเทศศัตรู ซึ่งข้อหลังนี้สามารถตีความได้กว้างมาก จนกลายเป็นข้อสงสัยว่า แอปพลิเคชันหรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับ “ประเทศศัตรู” ของสหรัฐฯจะถูกเล่นงานไปด้วยหรือเปล่า และผลที่ตามมาคือ แพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” เพื่อเลี่ยงปัญหาคดีความใช่หรือไม่กลายเป็นความคลุมเครือที่เป็นประโยชน์ต่ออำนาจรัฐอย่างเต็มเปี่ยม เปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐฯสามารถจัดการกับทุกแอปพลิเคชันที่ไม่ชอบใจ ด้วยเหตุผลว่าเป็นภัยทางความมั่นคง? วีรพจน์ อินทรพันธ์คลิกอ่านคอลัมน์ “๗ วันรอบโลก” เพิ่มเติม
กฎหมายต้านแอปฯชาติศัตรู เล่นงานแค่ติ๊กต่อกจริงหรือไม่
Related posts