“มทน.๔” ย้ำการพูดคุยสันติสุขเดินหน้าต่อ หลังผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ช่วยคลี่คลายความเห็นต่าง BRN กับคณะพูดคุยฯ ของไทยในแผนสร้างสันติสุขจชต. ในวันที่ ๒๘-๓๐ เมษายนนี้ คาดจะมีการกำหนดกรอบรายละเอียด โดยจะมุ่งสู่สร้างบรรยากาศสันติสุข ลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่เมื่อวันที่ ๑๗ มี.ค. ๖๗ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ ๔ และหน.ฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยสันติสุข เผยว่า ได้ขอบคุณและชื่นชมบทบาทของผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ช่วยคลี่คลายปัญหาในส่วนที่เห็นต่างกับ BRN ในแผนปฏิบัติการร่วมสร้างสันติสุขขับเคลื่อนให้การพูดคุยแก้ปัญหาจชต.เดินหน้าต่อได้ เป็นสัญญาณบวกของการแก้ปัญหาในพื้นที่ ก่อนหน้าการพูดคุยด้านเทคนิคครั้งที่ ๒ ที่มาเลเซียระหว่างวันที่ ๗-๘ มีนาคมที่ผ่านมา พล.ท.ปราโมทย์ ยอมรับคณะพูดคุยฯ ที่มีนายฉัตรขชัย บางชวด รองเลขาสมช. เป็น หน.คณะ และ BRN ยังมีความเห็นที่แตกต่างในรายละเอียดของแผนปฏิบัติการร่วมสร้างสันติสุข หรือ JCPP (JOINT COMPREHENSIVE PLAN TOWARDS PEACE) ที่เป็นรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติร่วมกันก่อนเดินหน้าสร้างสันติสุขในจชต. ซึ่งทั้งสองฝ่ายให้ความเห็นชอบในการพูดคุยสันติสุขครั้งที่ ๗ ที่มาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๖-๗ ก.พ. มีรายงานในการพูดคุยของฝ่ายเทคนิคครั้งแรกในวันที่ ๒๐ ก.พ. BRN ได้เสนอแผน JCPP ในส่วนของ BRN เพิ่มเติมขึ้นมา มีข้อเสนอในเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิก BRN ในการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมในพท. ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ และให้ปรับถอนกำลังทหารจากบางพท.แลกเปลี่ยนกับการลดสถานการณ์ความรุนแรงจากฝ่าย BRN “เราก็กังวลถ้ามีร่าง JCPP มา ๒ ฉบับการพูดคุยก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องขอขอบคุณ พล.อ.Tansri Zainal Abidin ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกที่พยายามคลี่คลายปัญหา ช่วยให้การพูดคุยของคณะทำงานฝ่ายเทคนิค สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ การพูดคุยฝ่ายเทคนิคครั้งล่าสุด มีทิศทางไปในเชิงบวก เป็นตัวบ่งชี้ว่าเราสามารถที่จะเดินหน้าพูดคุยกันต่อไปได้ โดย ผู้อำนวยการคส.มาเลเซีย พยายามยกประเด็นที่ยังเห็นต่างประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ใน JCPP มาหารือเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน” พล.ท.ปราโมทย์กล่าว แม่ทัพน้อยที่ ๔ เปิดเผยทั้งสองฝ่ายได้กำหนดการพูดคุยด้านเทคนิคครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ เมษายน ๒๕๖๗ จะเป็นการหารือรายละเอียดในส่วนที่ทั้ง ๒ ฝ่ายยังมีความเห็นที่แตกต่าง โดยเห็นสอดคล้องกันในสามสารัตถะ ในเรื่องการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะและการเปิดเวทีเสวนาหาทางออกทางการเมืองจากความขัดแย้ง “คณะทำงานฝ่ายเทคนิคของทั้ง ๒ ฝ่ายได้ยอมรับแนวทางร่วมกัน ในการวางกรอบทำงานขับเคลื่อนเราจะคุยกันในกรอบกติกาอะไรบ้าง ซึ่งในการพูดคุยครั้งหน้าของฝ่ายเทคนิค ในฐานะหน.ของฝ่ายเทคนิค จะให้มีการประชุมเตรียมความพร้อมทำเวิร์กช็อปกันอีกรอบ กำหนดกรอบรายละเอียดแต่ละขั้นตอนอย่างไรบ้าง ในการพูดคุยต้องกำหนดกรอบรายละเอียดที่ชัดเจน เช่นระยะการขับเคลื่อนจะมีทั้งหมดกี่ระยะ แต่ละช่วงจะมีกิจกรรมอย่างไรบ้าง เราหารือได้ข้อสรุปจะได้ไปพูดคุยกับฝ่ายเทคนิคของ BRN” พล.ท.ปราโมทย์เล่าถึงแผนงานที่เตรียมไว้ก่อนการพูดคุยรอบสามในปลายช่วงเดือนเมษายนพล.ท.ปราโมทย์ ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการร่วมของคณะพูดคุยฯ คาดหวังหากการพูดคุยของฝ่ายเทคนิคสามารถได้ข้อยุติร่วมกันในครั้งหน้านำไปสู่การลงนามใน JCPP ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเดินหน้าในการสร้างบรรยากาศสันติสุขลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ จากนั้นเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ ตามด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย หาทางออกทางการเมืองร่วมกันแก้ปัญหาขัดแย้งในจชต.โดยมีกรอบการทำงานในแต่ละห้วงเวลากำหนดไว้ในแผน JCPP ด้าน นายฉัตรชัย หน.คณะพูดคุยฯ ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านี้คาดหวังหากการพูดคุยฯ เป็นไปตามแผนที่วางไว้อาจสามารถลงนามในข้อตกลงสันติภาพได้ในช่วงปลายปี ๒๕๖๗ ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี จากสถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งเกาะติดการพูดคุยแก้ปัญหาจชต.มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ที่เริ่มการพูดคุยฯ ครั้งแรกในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวถึงความเห็นต่างในแผน JCPP ของฝ่าย BRN ถือเป็นเรื่องปกติของการพูดคุยแก้ปัญหา ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ตราบที่การหารือยังอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ พูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ไม่ต้องกังวลในเรื่องผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยการแบ่งแยกดินแดนที่มีบางฝ่ายแสดงความกังวลก่อนหน้านี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ศรีสมภพ ยังเห็นว่านับจากปี ๒๕๕๖ มีการพูดคุยฯ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถือเป็นการพูดคุยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดสามารถเดินหน้าพูดคุยทางเทคนิคในรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติร่วมกันก่อนเดินหน้าขับเคลื่อนสันติสุขในพท. ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ส่วนห้วงเวลาของการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในการลงนามสันติภาพช่วงปลายปี ๒๕๖๗ ยังอาจเร็วไปหากการพูดคุยไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้.
มทน.๔ ย้ำการพูดคุยสันติสุขเดินหน้าต่อ หลัง BRN ส่งสัญญาณแก้ปัญหาใน พท.
Related posts