Thursday, 19 December 2024

คนไทยวิกฤติทุนชีวิตต่ำ ไขกุญแจทางรอดยุค ๕.๐

18 Mar 2024
156

นับเป็นเรื่องร้อนสำหรับ “ประเทศไทย” เมื่อประชากรวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉพาะด้านการรู้หนังสือ ดิจิทัล อารมณ์และสังคม เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า ๓.๓ ล้านล้านบาทข้อมูลนี้ถูกค้นพบจาก “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก ม.ธรรมศาสตร์และ สนง.สถิติแห่งชาติ” ที่เป็นเสมือนสัญญาณสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาสเริ่มปรากฏช่วงห่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นความท้าทายที่ก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศมีรายได้สูงทำให้ต้องทบทวน “ภาคนโยบาย การศึกษาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ผ่านกิจกรรมงานครบรอบ ๖๙ ปี “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ที่จัดปาฐกถาพิเศษหัวข้อทุนมนุษย์ยุค ๕.๐ สร้างไทยยั่งยืนขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำโดย ด็อกเตอร์ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ.บอกว่าทุนมนุษย์ (human capital) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูงสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยบทบาททุนมนุษย์สามารถเติบโตได้ไม่มีที่สิ้นสุด เหตุนี้การลงทุน “เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์” เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ สามารถแบ่งเป็น ๓ ประเด็น คือประเด็นแรก…“ความท้าทายการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ศตวรรษที่ ๒๑” ที่ต้องคำนึงถึง ๖ ด้าน จะส่งผลการเตรียมพร้อมด้านทุนมนุษย์นี้ คือ ความท้าทายแรก…“โควิด-๑๙” ได้สร้างแนวโน้มไม่แน่นอนให้ตลาดแรงงาน และเร่งให้ลักษณะงานเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจำนวนมากลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมสําหรับวิกฤติในอนาคตความท้าทายที่สอง…“ประชากรสูงอายุ” ในปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยถูกจัดให้มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ ๓ ของโลก “จำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน” เพราะปี ๒๕๖๓ คนทำงานจากร้อยละ ๗๑ หรือคนทำงาน ๒ คนรองรับผู้ไม่ทำงาน ๑ คน จะลดลงในปี ๒๖๐๓ เหลือคนทำงาน ๑ ต่อ ๑ ส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแน่นอน ดังนั้น เมื่อแรงงานมีทักษะต่ำก็ต้องฝึกอบรมให้ “วัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่” ที่มิได้อยู่ในตลาดแรงงานให้เพิ่มมากขึ้น ความท้าทายที่สาม…“ความยากจนในชนบท” ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ คนจนเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่กระจุกตัวในชนบทแล้ว ๗๙% อยู่ในครัวเรือนเกษตรกรรม และในปี ๒๕๖๓ คนจนในชนบทสูงกว่าคนจนในเมืองเกือบ ๒.๓ ล้านคนความท้าทายที่สี่…“ความไม่เท่าเทียมรายได้” ประเทศไทยพยายามลดความจนมาตลอดโดยเฉพาะครัวเรือนชนบทมีสูงกว่าร้อยละ ๖๘ ของคนเมือง จนเกิดความไม่เท่าเทียมทางรายได้สูงสุดเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกความท้าทายที่ห้า…“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกจะกระทบการจ้างงาน การเติบโต และการกระจายรายได้ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย” คาดว่าปี ๒๖๔๓ ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม อาจสูญเสียร้อยละ ๖.๗ ของ GDP รวมกันในแต่ละปีความท้าทายที่หก…“ภัยทางธรรมชาติ” ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติหลายประการ ส่งผลร้ายแรงกระทบอย่างลึกซึ้ง และหลากหลายต่อตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นสิ่งเหล่านี้ “กำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานไทยอย่างมีนัยสำคัญ” ทำให้ทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์ต้องปรับตัวให้ทันบริบท และเงื่อนไขใหม่ “ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย” ทั้งเด็กหลุดออกระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำและเป็นทรัพยากรมีคุณค่าดังนั้น ทุนมนุษย์มีคุณภาพเท่านั้นจะช่วยให้ผู้คนก้าวผ่านความท้าทายทางสังคม และเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้คนไทยมีโอกาสหลุดพ้นความจนข้ามรุ่น หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ไม่เป็นแค่ความฝัน เช่นเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓ ที่ทยอยครบกำหนดในไม่กี่ปีนี้ถ้าไม่เร่งลงทุนลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ก็เสี่ยงจะไม่บรรลุเป้าหมายนั้น ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้อยากชวนมาดูประเด็นที่สอง…“สถานการณ์ทุนมนุษย์ของประเทศไทยในมิติความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส” จากข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี ๒๕๖๖ กสศ.พบว่ามีนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษอยู่ประมาณ ๑.๘ ล้านคน และเราได้ทำการสนับสนุนทุนให้ ๑.๒ ล้านคนตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓ “สนับสนุนทุน ๙.๙ แสนคน” ส่วนใหญ่มีความยากจนระดับรุนแรง กลายเป็นอุปสรรคให้ “เด็กไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา” ต้องออกจากระบบไปในที่สุดเท่าที่ติดตามเส้นทางการศึกษา “เด็กในครัวเรือนยากจน” ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๖ พบว่า “ยิ่งการศึกษาระดับสูง” โอกาสเด็กได้เรียนต่อยิ่งลดลง ในปี ๒๕๖๖ มีนักเรียนยากจน ๑ ใน ๑๐ ที่ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ต่อมาคือ “ช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษา” เป็นช่วงวิกฤติเด็ก และเยาวชนมักหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายแรกเข้าอุดมศึกษา ๑๓,๒๐๐-๒๙,๐๐๐ บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยทั้งปีของสมาชิกครัวเรือนเด็กยากจนพิเศษ ทำให้เจออุปสรรคแล้วในที่สุดก็ตัดสินใจไม่ไปต่อแม้จะต้องการเรียนแค่ไหนก็ตามถัดมา “มิติความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพ” ไม่นานนี้มีการสำรวจทักษะความพร้อมของประชากรวัยแรงงานของไทย พบว่าวัยแรงงาน ๑๕-๖๔ ปี ขาดแคลนทักษะทุนชีวิตรุนแรง ๒ ใน ๓ ของวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ไม่สามารถอ่านเข้าใจข้อความสั้นๆเพื่อแก้ปัญหาอย่างง่าย ๓ ใน ๔ และวัยแรงงานใช้เว็บไซต์ลำบากเพื่อทำงานง่ายๆร้อยละ ๓๐ทั้งยังขาดทักษะการคิดริเริ่ม “เพื่อสังคม และความกระตือรือร้น” สิ่งนี้กำลังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า ๓.๓ ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของ GDP ประเทศไทยในปี ๒๕๖๕ปัญหานี้ “ไม่ได้มีแต่เฉพาะในกลุ่มเยาวชนและแรงงาน” แต่วิกฤติทักษะทุนชีวิตได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวัยที่เป็นเด็กเล็ก และทยอยสะสมความขาดทุนในทุนชีวิตมาต่อเนื่องเข้าสู่ระบบการศึกษาจนก้าวออกสู่ตลาดแรงงาน ทำให้อยากชวนมาทำความเข้าใจวิกฤติทักษะทุนชีวิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลชุดต่างๆ “การแก้ต้นตอปัญหาวิกฤติขาดทุนมนุษย์ต้องป้องกันความล้มละลายในชีวิตทำงาน ด้วยการอาศัยทุกภาคส่วน และเร่งพัฒนาสร้างทักษะขาดหายไม่ให้สะสมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะจะเป็นภาวะล้มละลายทางทุนชีวิตในวัยผู้ใหญ่ ด้วยสนับสนุนให้ครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างเต็มที่” ด็อกเตอร์ประสารว่าประเด็นที่สาม…“ข้อเสนอการลงทุนในทุนมนุษย์ตอบโจทย์ทุกชีวิตอย่างเสมอภาค” มีข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นแนวทางการลงทุนในทุนมนุษย์ ๔ ประการ คือประการแรก…“ลงทุนในเด็กและเยาวชน” ตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยเฉพาะเด็กจากครัวเรือนใต้เส้นความยากจนมีเหลืออยู่ประมาณปีละ ๑๐๐,๐๐๐ คนเท่านั้นในปัจจุบันเพราะการพัฒนาแต่ช่วงเริ่มต้นมีโอกาสช่วยลดช่องว่างทุนมนุษย์ระหว่างเด็กด้อยโอกาส และเด็กกลุ่มอื่นได้มากกว่าการลงทุนช่วงหลัง “มุ่งเน้นการลงทุนตัวเด็กและครัวเรือน” ในการเพิ่มคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูประการที่สอง “ลงทุนให้ถูกเป้าหมาย” ด้วยการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และระบบการศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่น “ตอบโจทย์ชีวิต” ทั้งสนับสนุนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าอบรมยกระดับพัฒนาทักษะใหม่ๆประการที่สาม… “ลงทุนอย่างเสมอภาค” ด้วยการให้ความสำคัญต่อสิทธิทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยสูตรจัดสรรงบประมาณให้แก่เด็ก เยาวชนในสังกัดต่างๆที่ควรใช้หลักเสมอภาคชดเชยปัจจัยที่เป็นต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ผู้เรียนและสถานศึกษาอย่างเป็นธรรมประการที่สี่ …“ลงทุนนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์” โดยแรงจูงใจในการลดหย่อนภาษี ๒ เท่า เพื่อพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือ และนวัตกรรมทางสังคม หรือการใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) มาสนับสนุนงบประมาณการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาค และยั่งยืนต่อไปย้ำว่าการลงทุนในทุนมนุษย์เป็นกุญแจก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง “ทุกคน” ต้องร่วมกันสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ “เด็กและเยาวชน” มีโอกาสพัฒนาความสามารถสร้างทักษะใหม่ๆ เป็นหลักประกันการเข้าถึงการเรียนรู้เต็มศักยภาพ เพื่อให้พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม