Sunday, 19 January 2025

อำพันชี้การผสมพันธุ์สัตว์ยุคครีเตเชียส

เมื่อเร็วๆนี้ทีมวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์หวง ตี๋อิง จากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยานานกิง แห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Nanjing Institute of Geology and Palaeontology of the Chinese Academy of Sciences–NIGPAS) ได้ศึกษาฟอสซิลสัตว์น้ำยุคครีเตเชียสที่ติดอยู่ในก้อนอำพัน อายุราวๆ ๑๐๐ ล้านปี จากทางตอนเหนือของเมียนมาอย่างเป็นระบบ ฟอสซิลดังกล่าวเป็นของแมลงกลุ่มจิงโจ้น้ำ (Water striders) ที่ระบุชื่อว่า Burmogerris gen. nov.นักวิจัยระบุว่าอำพันที่นี้เผยพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของ Burmogerris ในยุคครีเตเชียส ซึ่งฟอสซิลที่แสดงลักษณะการมีเพศสัมพันธ์ของแมลงน้ำเป็นสิ่งที่หายาก ทีมเผยว่าจิงโจ้น้ำและเครือญาติของพวกมันมีการปรับตัวในการเคลื่อนไหว กินอาหาร และผสมพันธุ์บนผิวน้ำอย่างเห็นได้ชัด พวกมันครอบครองซอกหลืบต่างๆตามสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะแหล่งน้ำจืด แถวชายฝั่ง และทะเล ซึ่งระบบการผสมพันธุ์แบบจิงโจ้น้ำทั่วๆไป มีลักษณะเฉพาะคือมีการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างเพศ พฤติกรรมของเพศผู้ก็จะมีการคุกคาม บีบบังคับ และข่มขู่ ในขณะที่เพศเมียต่อต้านความพยายามผสมพันธุ์ที่รุนแรงเหล่านี้ ทั้งนี้ ในตัวอย่างฟอสซิลที่ได้จากอำพันเมียนมาประกอบด้วย Bur mogerris จับคู่กัน ๓ คู่ ในจำนวนนี้มี ๒ คู่ที่อยู่ในสถานการณ์ผสมพันธุ์ โดยตัวผู้ที่ตัวเล็กกว่าขี่อยู่บนหลังแมลงตัวเมีย นอกจากนี้ยังมีจิงโจ้น้ำอีก ๔ ตัว อยู่ในก้อนอำพันนี้ด้วย รวมถึงแมลงตัวผู้ที่โตเต็มวัยอีก ๑ ตัว.(Credit : NIGPAS)อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่