ถุงบิ๊กแบ็กที่บรรจุกาก “แคดเมียม” ที่เก็บในพื้นที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครและชลบุรีหลายถุงเกิดรั่วหรือถูกฉีกขาด จะเห็น…กากแคดเมียมมีลักษณะเป็นผงละเอียดสีดำ พบว่าไม่มีร่องรอยของการหุ้มด้วยซีเมนต์ผสมด้วยปูนขาวเลย…แสดงว่าการขุดเอากากตะกรันขึ้นมาจากหลุมฝังกลบถาวรที่จังหวัดตาก มีการกระแทกและบดตะกรันให้ละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อบรรจุใส่ถุงบิ๊กแบ็ก ดังนั้น อย่าอ้างว่า “ผงฝุ่นแคดเมียม” ที่ตั้งวางในโกดังต่างๆไม่อันตรายเพราะมีปูนซีเมนต์หุ้มอยู่ ซึ่งที่จริงไม่มีแล้ว แต่เป็นฝุ่นผงแคดเมียมที่อันตรายอาจฟุ้งกระจายได้ในอากาศ หรือหกหล่นในขณะขนส่งได้“หากหายใจเข้าไปเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ หากหกหล่นลงพื้นและลงสู่แหล่งน้ำจะกระทบต่อระบบนิเวศเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและเข้าร่างกายมนุษย์ สุดท้าย…มีโอกาสเป็นโรคตับและโรคไต โรคกระดูกผุ…จะมีอาการเจ็บปวดที่ข้อต่อของกระดูกและเป็นมะเร็งที่ระบบสืบพันธุ์”อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า ในต่างประเทศต้องบรรจุในถังที่ปิดสนิทต้องติดป้ายฉากเตือนเห็นได้อย่างชัดเจนต่อเนื่องมาถึงประเด็นใหญ่…เรื่องใหญ่! นั่นก็คือผลการตรวจปัสสาวะของประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงาน เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซอยกองพนันพล ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มีประชาชนจำนวน ๑๖ ราย จาก ๓๓ ราย…ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงานมีค่าแคดเมียมสูงเกินค่ามาตรฐาน“การรับสารแคดเมียมเข้าสะสมในร่างกาย หากมากเกินไปสารแคดเมียมจะมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของไตโดยตรง เนื่องจากไตจะเป็นส่วนสุดท้ายในการคัดกรองก่อนขับออกทางปัสสาวะ สิ่งที่ตามมาคืออาจมีนิ่วในไต เป็นโรคไต ไตวาย และตายไวได้”อาจารย์สนธิ กล่าวไว้ว่า การขนส่งกากแคดเมียมกลับไปกำจัด…ไม่ง่าย อาจารย์สนธิ คชวัฒน์การขนย้ายกากแคดเมียมกลับไปฝังกลบในบ่อเดิมในพื้นที่ของ บริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ จังหวัดตาก ต้องพิจารณาทั้งด้านกฎหมายและด้านเทคนิคหนึ่ง…การขนส่งกากแคดเมียมจากโรงงานและโกดังจากสมุทรสาคร ชลบุรี กรุงเทพฯไปฝังกลบในบ่อเดิมในพื้นที่ของบริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ จังหวัดตาก จะต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบก่อน เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้รับอนุมัติอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานลำดับที่ ๑๐๑หรือ…เป็นโรงงานที่รับกำจัดของเสียอันตราย (hazadouse waste) เป็นเพียงแค่โรงงานได้รับอนุญาตประเภทให้ทำการถลุงแร่สังกะสีเท่านั้น แต่เงื่อนไขในรายงานอีไอเอเดิมคือให้ฝังกลบกากแคดเมียมอย่างปลอดภัยไว้ภายในพื้นที่ของโรงงานเองเนื่องจากในช่วงนั้นยังไม่มีประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้มี…โรงงานประเภท ๑๐๑ (กำจัดกากอันตราย), ๑๐๕ (คัดแยกและฝังกลบกากไม่อันตราย) และ ๑๐๖ (รับรีไซเคิล) เพื่อจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งที่อันตรายและไม่อันตรายได้เป็นการเฉพาะดังนั้น…โรงงานปลายทางรับกากไปฝังกลบอย่างปลอดภัยไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงงานประเภท ๑๐๑ รวมทั้งไม่มีความรู้และอุปกรณ์ที่จะนำกากแคดเมียมไปฝังกลบให้ปลอดภัยนอกจากนี้โรงงานประเภท ๑๐๑ ยังเข้าข่ายประเภทและขนาดตาม พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ ที่จะต้องจัดทำรายงานอีไอเอและส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบก่อนการอนุมัติอนุญาตด้วย สอง…กากแคดเมียมที่ถูกขุดออกมาแล้วใส่ในบิ๊กแบ็กส่งมาโรงงานในจังหวัดสมุทรสาครและแตกกระจายไปในหลายแห่งเป็น “กาก” ที่ถูกสกัดออกมากลายเป็นชิ้นเล็กๆแล้ว ซึ่งจะทำให้ซีเมนต์ที่หุ้มกากไว้แตกออกกลายเป็น “ผงฝุ่น” ที่อันตรายต่อระบบการหายใจ….“การจะนำไปฝังกลบแบบปลอดภัยอีกครั้งจะต้องทำการปรับเสถียร (waste stabilization) คือต้องใส่ปูนขาวหรือสารเคมีเพื่อทำลายฤทธิ์ทำให้โลหะหนักไม่ละลายน้ำออกมาและต้องทำให้แข็งโดยการนำซีเมนต์มาผสมให้เป็นก้อนแข็งและต้องสุ่มเอากากแต่ละก้อนมาทดสอบกดลงไปด้วยแรงที่กำหนด…จึงนำใส่ลงหลุมได้ การจัดการกากหมื่นกว่าตัน…ต้องทำแบบนี้ทุกลอตที่ขนมา”สาม…การทำหลุมฝังกลบอย่างปลอดภัยต้องทำเป็นหลุมขนาดใหญ่ให้เพียงพอและปูพื้นด้วยพลาสติกเหนียวความหนาแน่นสูง (HDPE) ก้นหลุม ๒ ชั้น หากฝนตกจะต้องดูดเอาน้ำที่ขังออกให้หมด เอาก้อนกากดังกล่าวใส่ลงไปจนเต็มหลุมแล้วแคปปิดหลุมด้วยแผ่น HDPE ปลูกหญ้าสีเขียวหรือโบกปูนซีเมนต์ปิดถาวรก็ได้ที่สำคัญ…จะต้องมีระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินตลอดอายุ ๓๐ ปี เป็นอย่างน้อยสี่…การขนกากแคดเมียมไปฝังกลบที่เดิมทำได้หรือไม่ ต้องพิจารณาทั้งในด้านกฎหมายและด้านเทคนิค การขนส่งเป็นระยะทางมากกว่าร้อยกิโลเมตร ต้องขนส่งในรถยนต์ที่มีระบบที่ปิดมิดชิดและต้องเป็นรถชนิดพิเศษที่ได้รับการอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก คนขับรถต้องได้ใบอนุญาตประเภทที่ ๔คาดว่า…ต้องขนออกไปใช้เวลาค่อนข้างนานมากกว่า ๖๐๐ เที่ยว การฝังกลบที่ถูกต้องจะเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลและบริษัทที่จังหวัดตากต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดดังนั้น หากพิจารณานำกากแคดเมียมดังกล่าวไปฝังกลบอย่างปลอดภัยในโรงงานประเภท ๑๐๑ ที่ได้รับอนุญาตและมีอยู่แล้วทั้งที่จังหวัดสระแก้ว… สระบุรี…ราชบุรีที่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่าจะดีกว่าหรือไม่กรณีภัยร้าย “แคดเมียม” ผ่านมาถึงวันนี้ ยังมีคำถามสำคัญว่า…มีการสอบสวนโรงงานที่ต้นทาง จังหวัดตาก ที่ทำการขุดกากแคดเมียมหรือยัง? ถึงวันนี้…กรมโรงงานได้ไปแจ้งความหรือร้องเรียนกับตำรวจ บก.ปทส. กรณีโรงงานต้นทางคือบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด จังหวัดตาก เปิดหลุมและขุดกากตะกรันแคดเมียมขึ้นมาจากหลุมฝังกลบถาวรส่งไปขายให้โรงงานอื่นหรือยัง ซึ่งผิดตามข้อกำหนดในรายงานอีไอเอให้ฝังกลบอย่างปลอดภัยถาวรในพื้นที่โรงงานโดยมาตรการในรายงานอีไอเอทั้งหมดถือเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามทั้งหมด…ตามข้อมูลได้มีการขุดและส่งออกไปขายแล้ว ๑๓,๘๓๒ ตัน และยังมีการขุดกองไว้ในภาชนะยังไม่ได้ใส่ในถุงบิ๊กแบ็กเก็บไว้ในโรงงานต้นทางอีกจำนวนมากมหากาพย์ “แคดเมียม” ครั้งนี้ สะท้อนช่องโหว่ของการแจ้งและการอนุญาตการขนกากแคดเมียมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-waste จากโรงงานจังหวัดตากไปยังโรงงานปลายทางจังหวัดสมุทรสาครในทางปฏิบัติพื้นที่โรงงานปลายทางไม่สามารถรองรับกากแคดเมียมปริมาณมากถึง ๑๓,๘๓๒ ตันได้ ทำให้ต้องเอาส่วนเกินไปขาย…กระจายให้โรงงานอื่นๆ ปัญหาสำคัญคือ…ระบบตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบไม่ได้ หรือนำไปหลอมเบื้องต้นที่โรงงานอื่นๆ…ระบบกรมโรงงานก็ตรวจสอบไม่ได้เช่นกันจึงเป็นที่มาของการที่ “กากของเสียอันตราย” ถูกทิ้งในที่สาธารณะ… บ่อดินต่างๆตามที่เป็นข่าวอยู่เป็นประจำ ตอกย้ำกรณี “กากแคดเมียม” หน่วยงานราชการไม่มีทางทราบได้เลย หากไม่มีการร้องเรียน…ก็จะไม่มีการติดตามว่ากากหายไปไหน?…ต้องฝากทุกๆคนช่วยกันเป็นหูเป็นตามากขึ้น.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม
Related posts