Thursday, 19 December 2024

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงพิธีเปิด ASEAN Future Forum ๒๐๒๔ มุ่งสู่การเชื่อมโยง ยั่งยืน

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดงาน ASEAN Future Forum ๒๐๒๔ ใช้จุดแข็งของอาเซียน มุ่งสู่การเป็นอาเซียนที่เชื่อมโยง ยั่งยืน เป็นเอกภาพ และยืดหยุ่นมากขึ้น เชื่อมั่นจะเติบโต เจริญรุ่งเรือง เป็นประชาคมที่เราภาคภูมิใจเมื่อเวลา ๐๘.๓๐ น. วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดงาน ASEAN Future Forum ๒๐๒๔ ภายใต้หัวข้อ “Towards fast and sustainable growth of a people-centered ASEAN Community” ผ่านการบันทึกเทปวีดิทัศน์ ร่วมกับ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนปี ๒๕๖๗ และ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี ๒๕๖๘ (ในรูปแบบวีดิทัศน์) และเลขาธิการสหประชาชาติ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โลกอยู่ในยุคแห่งความไม่แน่นอน วิธีจัดการความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะมีความสำคัญต่ออนาคตร่วมกัน โดยขอชื่นชมเวียดนามสำหรับข้อริเริ่มในการจัดงาน ASEAN Future Forum ๒๐๒๔ เพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่ออนาคตของอาเซียนอาเซียนถือเป็นจุดยึด (an anchor) ของสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคมาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนในภูมิภาค ปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลก และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในเรื่องภูมิภาคนิยม (regionalism) และหลักการพหุภาคีนิยม (multilateralism) ด้วยจุดแข็งนี้ ภูมิภาคอาเซียนจึงควรมุ่งสู่การเป็น “อาเซียนที่เชื่อมโยง ยั่งยืน เป็นเอกภาพ และยืดหยุ่นมากขึ้น” (a more connected, sustainable, united, and resilient ASEAN) เพื่อบรรลุอนาคตที่มุ่งหวังไว้นายกรัฐมนตรี เผยต่อไปว่า อาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด โดยต้องเพิ่มความพยายามเป็น ๒ เท่า ในการพัฒนาความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อสำหรับการค้าและการลงทุน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอาเซียนที่ยั่งยืน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาเซียนควรมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอน ในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยจะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ต่อไปอาเซียนที่เป็นเอกภาพและยืดหยุ่น ยังคงมีความสำคัญในการเผชิญกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนจัดการกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีเพียงการรักษาเอกภาพและแสดงถึงความเป็นแกนกลางของอาเซียนเท่านั้น ที่จะสามารถรักษาความเกี่ยวข้องในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี ค.ศ. ๒๐๔๕ ที่ครอบคลุมเป้าหมายและแรงบันดาลใจของประชาชน โดยเชื่อมั่นว่าอาเซียนจะเติบโต เจริญรุ่งเรือง และเป็นประชาคมที่เราภาคภูมิใจ ซึ่งเราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบการกำหนดอนาคตของอาเซียน.