Friday, 27 December 2024

อนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ๒ รัชกาลสำเร็จ เก่าแก่ถึง ๑๗๐ ปี สมัย ร.๔ ถอดเนื้อหาเข้าระบบดิจิทัล

25 Apr 2024
140

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวส่งมอบผลงานการอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จำนวน ๘๙๔ รายการ (ผูก) พร้อมหนังสือบัญชีทะเบียนคัมภีร์ใบลาน และมอบเกียรติบัตรแก่อาสาสมัครท้องถิ่น ในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อาสาสมัครมศ.) ว่า สำนักหอสมุดแห่งชาติได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานตั้งแต่วันที่ ๓๐ ม.ค.-๒๑ มี.ค. โดยมีคณะสงฆ์และประชาชนร่วมเป็นเครือข่าย อาสาสมัครมศ. เพิ่มขึ้น จำนวน ๗ รูป/คน ซึ่งการดำเนินงานประกอบด้วย การอนุรักษ์จัดเก็บและจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน จัดระบบคัมภีร์ใบลานเพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อคัมภีร์ใบลานจำนวน ๖๗ มัด มีเลขทะเบียน ๑๔๔ เลขที่ รวมจำนวน ๘๙๔ ผูก ตั้งเป้าหมายให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้พระไตรปิฎกสมัยรัตนโกสินทร์กลางกรุงที่สำคัญนายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติกล่าวว่า คัมภีร์ใบลานที่อนุรักษ์ของวัด ถือเป็นคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกฉบับหลวงประจำรัชกาลที่ ๔ จากการสำรวจ อนุรักษ์จัดเก็บพบว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างซ่อมคัมภีร์บางฉบับที่หายไปในรัชกาลที่ ๔ เพื่อทำให้สมบูรณ์เต็มชุด เรียกว่าคัมภีร์ใบลานฉบับหลวงทรงสร้างซ่อม เป็นคัมภีร์ใบลาน ๒ รัชกาล เนื่องจากมีตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๔ อยู่ด้านซ้าย และตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๕ อยู่ด้านขวา ของปกคัมภีร์ใบลาน มีเรื่องสำคัญคือ อนาคตวังสะ สมัยรัชกาลที่ ๔ อายุประมาณ ๑๗๐ ปี เรื่อง วังสมาลินี ฉบับหลวงสร้างซ่อม รัชกาลที่ ๕ อายุ ๑๓๙ ปี“การค้นพบครั้งนี้นับเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับวงการการอนุรักษ์เอกสารโบราณของประเทศไทย เพราะเป็นคัมภีร์ ๒ รัชกาล โดยมีความเสียหายไปแล้วร้อยละ ๘๐ เพราะความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระยะเวลาที่ยาวนานส่งผลต่อตัวคัมภีร์โดยตรง ซึ่งเราสามารถอนุรักษ์ได้เพียงร้อยละ ๒๐ และพยายามออกเลขทะเบียนเพื่อเก็บและส่งต่อให้กลุ่มงานซ่อมสงวนรักษาหนังสือทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม้คัมภีร์ต้นฉบับที่เสียหาย แต่เนื้อหาในคัมภีร์ทั้งหมดได้รับการถอดแปลเป็นเนื้อหาเข้าระบบดิจิทัลแล้ว ซึ่งการรักษาต้นแบบฉบับทำมือนี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระราชศรัทธาต่อพุทธศาสนา สำหรับการค้นพบครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์เป็นแห่งแรกที่เคยพบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเขตพระราชวังเกาะรัตนโกสินทร์แห่งนี้” นายวัฒนากล่าว.(ภาพจาก กรมศิลปากร)อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่